วันพฤหัสบดีที่ 1 พฤษภาคม 2568
1 พ.ค. 2568 13:22 | 83 view
@pracha
ขบวนแรงงาน “สรส. - สสรท.” บุกหน้าทำเนียบฯ เรียกร้องรัฐบาลปรับค่าแรง 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ หลังเสนอมาหลายปียังไม่ได้ พร้อมยื่นข้อเสนอเร่งด่วน 7 ข้อ ”ไม่เอากาสิโน - หยุดแปรรูปรัฐวิสาหกิจ - กำจัดทุนผูกขาด - เร่งเยียวยาแรงงานที่ได้รับผลกระทบเหตุตึก สตง.ถล่ม“
วันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เมื่อเวลา 08.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และนัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2568 เพื่อเดินขบวนมายังบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล ก่อนเคลื่อนขบวนกลุ่มแรงงานได้ร่วมกันวางดอกไม้สีขาว พร้อมยืนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ตึกสตง. ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างพังถล่มในเหตุแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์สะท้อนถึงปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ ของผู้ใช้แรงงาน รวมถึงการคัดค้านกาสิโน จากนั้น เวลา 10.20 น. กลุ่มแรงงาน นำโดย สรส. และ สสรท. ได้เคลื่อนขบวนออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และมาถึงบริเวณประตู 5 ทำเนียบรัฐบาลในเวลา 11.10 น. โดยได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์นำค้อนโฟมทุบโมเดลกาสิโน และโมเดลถังแก๊ส แสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับกาสิโน และสะท้อนปัญหาค่าครองชีพที่แพงขึ้นในปัจจุบันแต่ค่าแรงไม่พอจ่าย
เวลา 11.40 น. นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และนายมานพ เกื้อรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์พร้อมข้อเรียกร้องเร่งด่วน 7 ข้อ และข้อเรียกร้องที่เป็นข้อเสนอเดิมช่วงหลายปีที่ผ่านมา 15 ข้อ ผ่านนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)
โดย นายมานพ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องเร่งด่วน ประกอบด้วย 1.ขอคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ ร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 2.หยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ โดยให้รัฐวิสาหกิจเป็นกลไกหลักของรัฐในการทำหน้าที่จัดบริการสาธารณะด้านต่างๆ ให้กับประชาชน 3.รัฐต้องเร่งรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 155 ว่าด้วยความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยในการทำงาน พ.ศ.2524
4.รัฐต้องวางมาตรการที่เข้มข้นเพื่อหยุดการคอรัปชั่นทุกรูปแบบ รวมถึงเพิ่มกลไกการตรวจสอบประกันสังคมกรณีการจัดซื้อตึก และการใช้เงินที่อาจผิดวัตถุประสงค์ของผู้ประกันตน 5.รัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมสถานประกอบการของคนไทยให้มีความเข้มแข็ง เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และค่าจ้าง ที่เป็นธรรม ต้องเข้มงวดตรวจสอบคัดกรองเกี่ยวกับการลงทุนของกลุ่มทุน ทั้งทุนเทา ทุนดำ นอมินี ทั้งทุนในประเทศ และที่มาจากต่างประเทศ 6.รัฐต้องเร่งช่วยเหลือเยียวยาให้กับแรงงานทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่มเป็นกรณีเร่งด่วน และ 7.รัฐต้องมีมาตรการในการดำเนินการต่อกลุ่มทุนผูกขาดที่มีอำนาจเหนือรัฐ ที่สร้างผลกระทบต่อประเทศชาติ และประชาชน โดยเฉพาะในกิจการพลังงาน โทรคมนาคม และรัฐควรยกเลิกการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน
ขณะที่ ข้อเรียกร้องที่เป็นข้อเสนอเดิมช่วงหลายปีที่ผ่านมา 15 ข้อ ประกอบด้วย 1.รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน คือรัฐต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาทเท่ากันทั่วประเทศ 2.รัฐต้องลดรายจ่ายของประชาชนลง และเพิ่มรายได้ เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน และผู้ใช้แรงงานซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนฐานรากในภาพรวมได้อย่างแท้จริง 3.รัฐต้องสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ (ฉบับประชาชน) 4.รัฐต้องหยุดการแปรรูปรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบ และให้มีการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพในการให้บริการที่ดี มีคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 5.รัฐต้องปรับปรุงโครงสร้างทางภาษี โดยเก็บภาษีในอัตราที่ก้าวหน้าอย่างจริงจัง
6.รัฐต้องปฏิรูปการประกันสังคม 7.รัฐต้องจัดสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพให้แก่ประชาชนทุกคนได้เข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติ 8. รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ 9. รัฐบาลต้องยกเลิกนโยบายการจำกัดอัตรากำลังบุคลากรภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และยกเลิกนโยบายการลดสิทธิประโยชน์สวัสดิการของพนักงานและครอบครัว 10.รัฐต้องกำหนดให้ลูกจ้างภาครัฐในหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งส่วนกลาง และท้องถิ่น รับค่าจ้างจากงบประมาณแผ่นดิน และต้องบรรจุเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างประจำ
11.รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด กรณีนายจ้างเลิกจ้างคนงานโดยไม่จ่ายค่าชดเชย หรือจ่ายไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด 12.รัฐต้องจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงจากการลงทุน โดยให้นายจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุน เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิของคนงานเมื่อมีการเลิกจ้างหรือปิดกิจการ โดยนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย คนงานต้องได้สิทธิรับเงินจากกองทุนนี้ 13.รัฐต้องพัฒนากลไกการเข้าถึงสิทธิ และการบังคับใช้กฎหมายความปลอดภัย อาชีวะอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง และต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันความปลอดภัยให้เพียงพอ สำหรับการบริหารจัดการเรื่องความปลอดภัยให้มีประสิทธิภาพ 14.รัฐต้องยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง เช่น การจ้างงานแบบชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง เหมาค่าแรง เหมางานเหมาบริการ และการจ้างบางช่วงเวลา ทั้งภาครัฐและเอกชน 15. ข้อเสนอเพื่อคุ้มครองสิทธิ์แรงงานข้ามชาติ เช่น รัฐต้องสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงสถานะ และไม่เลือกปฏิบัติต่อใครชาติใดชาติหนึ่ง เพื่อประสิทธิภาพในการเข้าถึงการรักษาโรค รัฐต้องให้แรงงานข้ามชาติทุกคนเข้าถึงสิทธิเงินกองทุนทดแทน เมื่อเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานไม่ว่ากรณีใด ขณะเดียวกัน เครือข่ายแรงงานสตรี ได้เรียกร้องสิทธิลาคลอด 180 วัน ต้องจ่ายค่าแรง 100%
จากนั้น รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวหลังรับหนังสือว่า หลายเรื่องที่รับไปมีทั้งก้าวหน้า และไม่ก้าวหน้า แต่ยืนยันรัฐบาลฟังเสียงพี่น้องแรงงานมาตลอด และจะได้พูดคุยกันในอนาคต เรื่องนี้เป็นเรื่องของทุกคนรัฐบาลพร้อมรับฟังทุกเสียง แม้ว่าท่านจะชอบหรือไม่ชอบรัฐบาลก็ตาม
ข่าว
1 พ.ค. 2568 15:37 73 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 14:38 75 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 14:33 61 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 13:46 69 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 13:39 78 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 13:22 84 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 12:57 84 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 11:49 96 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 11:46 85 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 11:35 103 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 11:26 215 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 11:15 110 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 11:10 187 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 11:09 100 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 11:09 117 views
ข่าว
1 พ.ค. 2568 11:03 127 views