วันพุธที่ 30 เมษายน 2568
30 เม.ย. 2568 10:40 | 90 view
@pracha
'สส.ปชน.' ถอดบทเรียนตึกสตง.ถล่ม ชงปฏิรูปองค์กรอิสระ ให้ไม่เป็นอิสระจากประชาชน
30 เม.ย.2568- นายพริษฐ์ วัชรสินธุ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง [ถอดบทเรียนตึก สตง. ถล่ม : ถึงเวลาปฏิรูปองค์กรอิสระ ให้ไม่เป็นอิสระจากประชาชน ] มีเนื้อหาดังนี้
.
ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เหตุการณ์ตึก สตง. ถล่มจากแผ่นดินไหว ผมเชื่อว่าสังคมไทยเราได้เห็นถึงปัญหาของรัฐไทยในหลากหลายเรื่องที่ถูกซุกไว้ใต้พรมและเสี่ยงจะก่อความเสียหายเพิ่มเติมหากไม่ได้รับการแก้ไข (เช่น ความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ความหละหลวมในการกำกับมาตรฐานวัสดุก่อสร้าง และการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่สมเหตุสมผล) แต่ท่ามกลางปัญหามากมายที่สังคมต้องการคำตอบ ประชาชนจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกว่าการตรวจสอบและการเรียกร้องความรับผิดรับชอบทางการเมืองจาก สตง. ต้องเผชิญกับอุปสรรคมากเป็นพิเศษ
.
สาเหตุหลักของปัญหานี้ เป็นเพราะ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นตัวอย่างหนึ่งของ “องค์กรอิสระ” ตามรัฐธรรมนูญ (เช่นเดียว กับ กกต. และ ป.ป.ช.) ที่ถูกตั้งคำถามมากขึ้นเช่นกันถึงประสิทธิภาพและความโปร่งใสในการทำหน้าที่
.
“องค์กรอิสระ” เป็นแนวคิดที่ถูกริเริ่มขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540 โดยมีเจตนาที่ต้องการเห็นองค์กรที่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบหน่วยงานอื่น โดยเป็น “อิสระจากการถูกแทรกแซงทางการเมือง” หรือพูดง่ายๆคือไม่ใช้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
.
แต่ไม่ว่าเราจะคิดเห็นอย่างไรกับการวางเป้าหมายดังกล่าว..
และไม่ว่าเราจะเห็นว่าองค์กรอิสระที่ผ่านมาบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จริงหรือไม่...
.
สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนคงปฏิเสธไม่ได้ คือวิวัฒนาการเรื่ององค์กรอิสระตลอด 20-30 ปีที่ผ่านมา และรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เราใช้กันอยู่ตอนนี้ ได้ทำให้องค์กรอิสระมีความเป็น “อิสระจากประชาชน” มากขึ้น
.
หากเราต้องการเห็นองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น โดยไม่ถูกผูกขาดโดยฝ่ายการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ผมเห็นว่าเราต้องปฏิรูปองค์กรอิสระโดยการ “เติมประชาชน” เข้าไปใน 4 โจทย์ด้วยกัน (ซึ่งมีหลายทางเลือกในเชิงรายละเอียดที่สามารถร่วมกันแลกเปลี่ยนได้)
.
[ โจทย์ 1 = ปรับ “กระบวนการสรรหา-เสนอชื่อ” ให้นำไปสู่ความหลากหลายมากขึ้น ]
.
ปัญหา: แม้ว่าคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ณ เวลานี้ จะมีตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่ 2 คนโดยตำแหน่ง (ประธานสภา ผู้นำฝ่ายค้าน) แต่คณะกรรมการส่วนใหญ่กลับเป็นบุคคลที่ถูกแต่งตั้งจากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระอื่นๆ ซึ่งเสี่ยงจะทำให้เกิดการเสนอแต่ชื่อ “คนกันเอง” โดยที่ไม่มีหลักประกันว่าเสียงของประชาชนจะถูกสะท้อนผ่านตัวแทนที่ประชาชนเขาเลือกเข้าไป
.
ทางออก: เพิ่มตัวแทนประชาชนจากหลากหลายฝ่ายเข้าไปในกระบวนการสรรหา-เสนอชื่อมากขึ้น
.
- ทางเลือก 1.1 (แม่น้ำ 1 สายที่หลากหลาย): คงคณะกรรมการสรรหาและเสนอชื่อเป็นชุดเดียว แต่เพิ่มตัวแทนประชาชนหรือภาคส่วนอื่นๆเข้าไปมากขึ้น (ยกตัวอย่างเช่น รธน. 2540 ที่มีตัวแทนพรรคการเมืองและตัวแทนภาควิชาการในจำนวนและสัดส่วนที่มีนัยสำคัญ)
.
- ทางเลือก 1.2 (แม่น้ำหลายสาย): แบ่งโควต้าคณะกรรมการองค์กรอิสระเป็นหลาย “สาย” และเปิดให้มีคณะกรรมการสรรหาและเสนอชื่อที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละ “สาย” (เช่น หากกรรมการ ก.ก.ต. มี 7 คน อาจจะแบ่งให้มีโควต้าที่ถูกเสนอชื่อโดยตัวแทนรัฐบาล 2 คน + เสนอชื่อโดยตัวแทนฝ่ายค้าน 2 คน + เสนอชื่อโดยตัวแทนวุฒิสภา (หากยังมี) 1 คน + เสนอชื่อโดยตัวแทนศาล-ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระอื่น 2 คน)
.
(ป.ล. การถูกเสนอชื่อ ไม่ได้หมายความว่าบุคคลดังกล่าวจะได้ดำรงตำแหน่งทันที เพราะขึ้นอยู่กับการออกแบบการรับรองชื่อในโจทย์ถัดไป)
.
[ โจทย์ 2 = ออกแบบ “กระบวนการรับรองชื่อ” ให้ยึดโยงประชาชน-ไม่ถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ]
.
ปัญหา: รัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ว่า ไม่ว่าคณะกรรมการสรรหา (จากโจทย์ 1) จะเสนอชื่อใคร บุคคลดังกล่าวจะได้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ต่อเมื่อได้ถูก “รับรอง” โดยกึ่งหนึ่งของวุฒิสภา ซึ่งเป็นองค์กรที่ ณ ปัจจุบัน ไม่ยึดโยงกับประชาชน (เนื่องจาก สว. ภายใต้ รธน. 2560 ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง) และไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะไม่ถูกผูกขาดโดยฝ่ายการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือสีใดสีหนึ่ง (ตามที่ปรากฏให้เห็นในทุกวันนี้)
.
ทางออก: ปรับกระบวนการรับรองชื่อ ให้ยึดโยงประชาชน และไม่ถูกผูกขาดได้โดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
.
- ทางเลือก 2.1 (เน้น “ฉันทามติ” / กรรมการทุกคนเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่าย): ปรับให้บุคคลที่ถูกเสนอชื่อต้องถูก “รับรอง” โดยรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร (เพื่อให้มีความยึดโยงกับประชาชนผ่านตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้ง) แต่เพื่อให้ได้บุคคลที่เป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายและป้องกันการผูกขาดโดยรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาฯ อาจมีการกำหนดให้ต้องได้เสียงมากกว่าการได้แค่ “กึ่งหนึ่ง” ของรัฐสภาหรือสภาผู้แทนราษฎร (เช่น “สองในสาม”) รวมถึงอาจกำหนดว่าต้องได้เสียง “ขั้นต่ำ” จากทุกฝ่าย (เช่น ต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ สส. รัฐบาล + เกินกึ่งหนึ่งของ สส. ฝ่ายค้าน)
.
- ทางเลือก 2.2 (เน้น “คานกัน” / คณะกรรมการมีตัวแทนครบจากทุกฝ่าย): หากมีความกังวลว่าทางเลือก 2.1 เสี่ยงจะทำให้แต่ละฝ่ายร่วมกันฮั้วเพื่อเลือกคนที่ไม่กล้าตรวจสอบฝ่ายใดเลยไปเป็นกรรมการองค์กรอิสระ อีกทางเลือกที่เป็นไปได้ คือการเปิดให้หลากหลายฝ่าย (เช่น ตามทางเลือก 1.2) เสนอคนเข้ามาโดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการรับรองใดๆเพิ่มเติม เพื่อรับประกันว่าคณะกรรมการองค์กรอิสระโดยรวม จะมีตัวแทนจากหลากหลายฝ่ายที่ย่อมคานและถ่วงดุลกันและกันในการทำหน้าที่ โดยไม่ปล่อยให้คณะกรรมการถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
.
[ โจทย์ 3 = ตีกรอบ “ขอบเขตอำนาจ” ให้ยึดโยงประชาชน-ไม่ถูกผูกขาดโดยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ]
.
ปัญหา: องค์กรอิสระได้มีการขยายขอบเขตอำนาจในหลายเรื่องตลอด 20 ที่ผ่านมา ที่กลายมาเป็นอุปสรรคต่อการทำหน้าที่ของตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่ว่าจะมาเพราะบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2560 (เช่น การให้ กกต. มีอำนาจ “บัตรส้ม” ที่สามารถถอดผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งออกจากตำแหน่งได้ด้วยข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต แม้ในที่สุดพิสูจน์ว่าไม่ได้มีการกระทำผิดตามข้อกล่าวหา) หรือจากกฎหมายอื่นๆหรือแนวปฏิบัติ (เช่น การใช้ดุลพินิจของ สตง. ในการตีความกฎหมาย ที่เป็นการจำกัดอำนาจของท้องถิ่นในการจัดทำบริการสาธารณะมากเกินจำเป็น)
.
ทางออก: ทบทวนขอบเขตอำนาจขององค์กรอิสระและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นรายองค์กร (เช่น ยกเลิกอำนาจ กกต. ในการออกใบส้ม / ทบทวนกฎหมายกระจายอำนาจเพื่อปลดล็อกการทำหน้าที่จัดทำบริการสาธารณะของท้องถิ่น)
.
[ โจทย์ 4 = คืนสิทธิให้ประชาชนในการริเริ่ม “กระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ” ]
.
ปัญหา: แม้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เคยให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเพื่อริเริ่มกระบวนการพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ (2540: 50,000 รายชื่อ / 2550: 20,000 รายชื่อ) แต่รัฐธรรมนูญ 2560 กลับลบอำนาจประชาชนในการเข้าชื่อออก (ยกเว้นการเข้าชื่อ 20,000 รายชื่อเพื่อริเริ่มการถอดถอนกรรมการ ป.ป.ช.)
.
ทางออก: คืนสิทธิให้ประชาชนในการเข้าชื่อ (เช่น 20,000 รายชื่อ) เพื่อริเริ่มกระบวนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ส่อไปในทางทุจริตต่อหน้าที่ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย
.
โดยสรุป หากเราต้องการให้องค์กรอิสระอย่าง สตง. มีความยึดโยงและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนมากขึ้น และหากเราต้องเติมเสียงของประชาชนเข้าไปในการคัดเลือก-รับรอง-ตรวจสอบ องค์กรอิสระอย่าง สตง. เราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว
ข่าว
30 เม.ย. 2568 14:24 81 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 14:09 33 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 13:44 48 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 13:17 72 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 12:55 48 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 12:32 48 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:34 105 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:28 85 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:27 46 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:24 122 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:13 65 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:06 53 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 11:01 117 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 10:55 83 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 10:53 71 views
ข่าว
30 เม.ย. 2568 10:52 343 views