วันอังคารที่ 7 มกราคม 2568
5 ม.ค. 2568 09:48 | 231 view
@supakitt
นสพ.The Daily Star ของบังกลาเทศ เสนอรายงานพิเศษ Thailand sees growing influx of patients from Bangladesh ว่าด้วยชาวบังกลาเทศเลือกที่จะเดินทางไกลไปเข้ารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียจำกัดการออกวีซ่าให้กับชาวบังกลาเทศ ประกอบกับการสมัครวีซ่าทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยที่ทำได้ง่าย รวมถึงผู้ให้บริการในไทยมีความเห็นอกเห็นใจ
ผลการศึกษาเรื่อง "คุณภาพการดูแลสุขภาพของบังกลาเทศและการเดินทางเพื่อการรักษาพยาบาลจากต่างประเทศมายังประเทศไทย (healthcare quality of Bangladesh and outbound medical travel to Thailand)" ที่มีคณะผู้วิจัย ประกอบด้วย ศ.มูฮัมหมัด มาห์บูบ อาลี (Prof.Muhammad Mahboob Ali) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธากา ในบังกลาเทศ และ อานิตา เมเธการ์ (Anita Medhekar) อาจารย์อาวุโสด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซ็นทรัล ควีนส์แลนด์ ในออสเตรเลีย แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยในบังกลาเทศมีทัศนคติเชิงบวกต่อบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย ทำให้ไทยเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับการแสวงหาการรักษาพยาบาล
คณะผู้วิจัยบอกว่า แรงผลักดันหลักที่ทำให้ผู้คนหันมาสนใจการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมากขึ้น คือความเชื่อที่ว่าประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการรักษาที่มีคุณภาพสูง ซึ่งตามข้อมูลของหน่วยงานที่อำนวยความสะดวกด้านวีซ่าและหน่วยงานที่จัดการนัดหมายกับโรงพยาบาลต่างประเทศ จำนวนชาวบังกลาเทศที่ต้องการวีซ่าเพื่อการแพทย์สำหรับประเทศไทยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40 ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา
มีตัวอย่างจาก ซาบินา อัคเตอร์ (Sabina Akter) หญิงวัย 42 ปี ที่เล่าว่า ตนป่วยเป็นโรคไต เคยพยายามขอเข้าไปรักษาในประเทศอินเดีย แต่ถูกปฏิเสธการยื่นขอวีซ่า จึงเลือกเดินทางไปยังกรุงเทพฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก Thai Medicure พันธมิตรที่ได้รับอนุญาตในการอ้างอิงสำหรับโรงพยาบาลชั้นนำบางแห่งของประเทศไทยในการขอวีซ่าและนัดหมายปรึกษาแพทย์ จนได้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไตที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในย่านสุขุมวิท ซึ่งแม้ค่ารักษาจะแพงกว่าโรงพยาบาลที่ดีที่สุดในบังกลาเทศ แต่เมื่อเทียบเรื่องคุณภาพแล้วก็ถือว่าคุ้มค่า
เช่นเดียว ลาบิบา (Labiba ) ที่เล่าว่า ญาติของตนเพิ่งเดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อรับการรักษาพยาบาลหลังจากที่ไม่สามารถขอวีซ่าเข้าประเทศอินเดียได้ แม้ว่าค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยจะสูงกว่าในบังกลาเทศเล็กน้อย แต่ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับผู้ป่วยชาวบังกลาเทศที่ต้องการการดูแลที่ดีกว่า ขณะที่ นาซนีน อักเตอร์ ศรีสตี (Nazneen Akter Sristy) ผู้บริหารระดับสูงของ Thai Medicure ในกรุงธากา เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2567 เป็นต้นมา มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 ที่ต้องการเดินทางไปยังประเทศไทยเพื่อรับการรักษาพยาบาล
ศรีสตี กล่าวต่อไปว่า ก่อนเดือน ส.ค. 2567 Thai Medicure สามารถดำเนินการขอวีซ่าทางการแพทย์ให้กับผู้ป่วยได้โดยเฉลี่ย 20 รายต่อเดือน แต่ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 เป็นต้นมา จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 25 ถึง 30 รายต่อเดือน ซึ่งโดยพื้นฐานแล้ว ผู้ป่วยวิกฤติในบังกลาเทศจะเดินทางไปยังประเทศไทยเป็นหลักหากไม่สามารถขอวีซ่าอินเดียได้ และรัฐบาลไทยอาจตระหนักถึงเรื่องนี้ จึงทำให้ขั้นตอนการขอวีซ่าง่ายขึ้นสำหรับนักท่องเที่ยวและผู้ป่วยชาวบังกลาเทศด้วยการนำระบบวีซ่าอิเล็กทรอนิกส์มาใช้
ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการขอวีซ่าเข้าประเทศไทยสามารถรับวีซ่าได้ทางอีเมลภายใน 10 วันหลังจากยื่นคำร้อง และโดยปกติ สถานทูตไทยในบังกลาเทศจะไม่ปฏิเสธ เว้นแต่ผู้สมัครจะไม่แสดงเอกสารที่ถูกต้องหรือมีเงินในบัญชีธนาคารไม่เพียงพอ ด้าน อิสติอัค อาเหม็ด เอมอน (Istiak Ahmed Emon) ผู้บริหารฝ่ายประสานงานผู้ป่วยของ Thai Medi Xpress เปิดเผยว่า จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ส่วนการที่ผู้ป่วยชาวบังกลาเทศเดินทางไปยังประเทศไทยนั้นเป็นผลมาจากการประกาศข้อจำกัดของอินเดียในการออกวีซ่าให้กับชาวบังกลาเทศ
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเอกชนชั้นนำแห่งหนึ่งของไทย ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2567 มีผู้ป่วยอาการวิกฤตจากบังกลาเทศเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเฉลี่ย 60 รายต่อเดือน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยรายเดือนก่อนหน้านั้นอยู่ที่ประมาณ 40 ราย เท่ากับจำนวนผู้ป่วยจากบังกลาเทศจึงเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 67 สาเหตุสำคัญที่ชาวบังกลาเทศเลือกโรงพยาบาลในประเทศไทยเพราะมีแผนกช่วยเหลือเฉพาะทาง
อับดุล ไกอุม (Abdul Kaium) ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการของสำนักงานโรงพยาบาลเอกชนของไทยในบังกลาเทศ กล่าวว่าเป็นเรื่องจริงที่แรงกดดันในการดำเนินการขอวีซ่าเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงไม่นานนี้ เนื่องมาจากจำนวนผู้ขอวีซ่าเพื่อการแพทย์ที่เพิ่มขึ้น ก่อนหน้านี้ ชาวบังกลาเทศดำเนินการขอวีซ่าเพื่อวัตถุประสงค์ทางการแพทย์สูงสุด 20 ฉบับต่อเดือน แต่ปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 30 ฉบับต่อเดือน
กัมรุล อิสลาม (Kamrul Islam) ผู้จัดการทั่วไปของสายการบินยูเอส บังกลา ระบุว่า จำนวนผู้เดินทางจากบังคลาเทศไปยังประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2567 ด้วยเหตุนี้จึงได้เพิ่มเที่ยวบินพิเศษอีก 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยปัจจุบันให้บริการเที่ยวบิน 9 เที่ยวบินต่อสัปดาห์
ข้อมูลของธนาคารกลางบังกลาเทศ พบว่า การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตของพลเมืองบังกลาเทศในอินเดียลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การใช้จ่ายในไทยและสิงคโปร์กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกล่าวว่าแนวโน้มดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับการออกวีซ่าในอินเดียที่จำกัด ซึ่งทำให้จำนวนผู้ป่วยและนักท่องเที่ยวชาวบังกลาเทศที่เดินทางไปประเทศเพื่อนบ้านลดลง
ข่าว
6 ม.ค. 2568 15:41 158 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 14:30 97 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 14:09 99 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 13:32 83 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 13:28 132 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 12:50 136 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 12:35 74 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 12:18 76 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 11:34 272 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 11:30 118 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 11:29 117 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 11:03 129 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 09:31 203 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 09:28 116 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 09:25 133 views
ข่าว
6 ม.ค. 2568 09:23 184 views