วันพฤหัสบดีที่ 21 พฤศจิกายน 2567
27 ต.ค. 2566 16:22 | 21301 view
@varin
เมื่อ 16 ปีที่แล้ว ผมเคยเขียนบทความวิชาการฉบับหนึ่ง เรื่อง “พรรคการเมืองไทย ผลิตผลวัฒนธรรมทางการเมืองแบบไทย” สาระสำคัญของบทความโดยย่อ คือการทบทวนให้เห็นว่า คำอธิบายเกี่ยวกับวัฒนธรรมทางการเมืองของไทยก่อนหน้านั้น หลักๆ แล้วมีอยู่ด้วยกัน 8 ประการ และพยายามเสนอว่าด้วยวัฒนธรรมทางการเมืองเช่นว่านี้ มันได้กลายเป็นไปตัวกำหนดทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับพรรคการเมืองของไทย ตั้งแต่ระบบพรรคการเมือง โครงสร้างพรรคการเมือง ซึ่งประกอบด้วย นโยบาย สมาชิก และการจัดตั้งองค์กร รวมถึงลักษณะการจัดตั้งและการสิ้นสุดของพรรคการเมืองด้วย โดยหนึ่งในข้อใหญ่ใจความอันเป็นผลสืบเนื่องจากวัฒนธรรมทางการเมืองเช่นว่านี้ คือ “นโยบาย”
“พรรคการเมืองของไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อนโยบายของพรรคมากนัก นโยบายจึงมักไม่ค่อยปรากฏเด่นชัดต่อสาธารณะ นโยบายที่กำหนดไว้มักมีลักษณะกว้างๆ ขาดแนวทางและวิธีการที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย และนโยบายส่วนใหญ่จะมีสาระสำคัญที่คล้ายคลึงกัน คำขวัญหรือสโลแกนสวยๆ จึงเขียนไว้โก้ๆ พอเป็นเครื่องจูงใจในการหาเสียงสนับสนุนจากประชาชนเท่านั้น กระทั่งอดีตพรรคไทยรักไทย ได้สร้างความแตกต่างโดยชูนโยบายประชานิยมเต็มขั้น ส่งผลให้ได้คะแนนเสียงอย่างล้นหลามในการเลือกตั้งเมื่อปี พ.ศ.2544 และ พ.ศ.2548 ส่งผลให้พรรคการเมืองต่างๆ ปรับเปลี่ยนและหันมาให้ความสนใจกับการโฆษณานโยบายมากขึ้น แต่ก็เป็นไปในลักษณะเดียวกันแทบจะทุกพรรคการเมือง มิได้มีความแตกต่างกันในรายละเอียดเช่นเคย”
เมื่อมองย้อนกลับไปถึงปี 2541 ที่คุณทักษิณ ชินวัตร ตัดสินใจตั้งพรรคไทยรักไทย ขึ้นมาเลยก็ได้ ต้องยอมรับว่าอดีตพรรคไทยรักไทย คือประกายสำคัญที่กลายมาเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองของไทย ที่ค่อยๆ ทำให้ “นโยบาย” กลายมาเป็นหนึ่งในสาระสำคัญของการเลือกตั้ง ชนิดที่ถึงวันนี้ พรรคการเมืองที่คาดหวังจำนวน ส.ส. พอให้ได้ตำแหน่งรัฐมนตรี จะเสนอขายแค่ชื่อของหัวหน้าพรรคไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ดูพรรคเสรีรวมไทย ของ คุณเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นตัวอย่างก็ได้ จาก 10 ที่นั่งเมื่อปี 2562 เหลือเพียง 1 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา เพราะทุกเวทีดีเบตที่จัดขึ้นแทบทุกวันก่อนการเลือกตั้ง จะถามซ้ำๆ ลึกลงไปในรายละเอียด และเค้นเอาจุดยืนที่ชัดเจนต่อนโยบายต่างๆ ว่าแต่ละพรรคนั้น Yes หรือ No ที่สำคัญก็คือ พี่น้องประชาชนเขาสนใจจะฟัง คิดตาม และมีเค้าว่าเขาได้นำไปเป็นส่วนประกอบหลักอย่างหนึ่งในการตัดสินใจเลือกตั้งเสียด้วย
สโลแกนที่อดีตพรรคไทยรักไทย ใช้เพื่อเน้นให้เห็นถึงความแตกต่างจากพรรคการเมืองอื่นๆ ในขณะนั้น คือ “คิดใหม่ ทำใหม่ เพื่อไทยทุกคน” และหลายนโยบายของปี 2544 อาทิเช่น กองทุนหมู่บ้าน และ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ได้กลายมาเป็นนโยบายระดับตำนานที่อยู่ในความทรงจำของพี่น้องประชาชน ว่าพรรคการเมืองยี่ห้อนี้และนักการเมืองหน้าตาแบบนี้ ทำให้ประชาธิปไตยกินได้ขึ้นมาจริงๆ ยืนยันได้จากผลการเลืองตั้งตลอด 2 ทศวรรษ ที่พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย สามารถเอาชนะการเลือกตั้งมาได้ทุกครั้ง กวาดคะแนนเสียงของพี่น้องประชาชนมาเป็นอันดับที่ 1 โดยตลอด กระทั่งมาเสียแชมป์ให้กับพรรคก้าวไกล ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมานี่เอง
เมื่อการให้ความสำคัญกับนโยบายของพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป และคู่แข่งของพรรคเพื่อไทย ภายหลังการครองอำนาจเกือบทศวรรษของรัฐบาลทหาร ไม่ใช่พรรคการเมืองที่ประชาชนมองว่ามีประสบการณ์บริหารบ้านเมืองให้ประชาชนอยู่ดีกินดี แม้แต่พรรคก้าวไกล ที่เป็นคู่แข่งในฝั่งเดียวกันที่คาดว่าจะมาตัดคะแนนกันเอง ก็เป็นพรรคการเมืองหน้าใหม่ ถึงจะค้านเก่ง แต่ก็ยังไม่เคยมีประสบการณ์เป็นฝ่ายบริหาร ไม่เคยได้ลงมือนำนโยบายไปปฏิบัติด้วยตนเองมาก่อน สโลแกนที่พรรคเพื่อไทย ใช้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา จึงเปลี่ยนมาเป็น “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” เพื่อย้ำเตือนความทรงจำของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ว่าพรรคการเมืองของเขานั้นนอกจากจะคิดการใหญ่ ยังมีประสบการณ์ทำได้จริงมาแล้วด้วย เรียกว่าทำเป็นจริงๆ ไม่ใช่แค่พูดขายฝันไปเรื่อย
จาก “นโยบายสุดปัง” สู่ “นโยบายสุดพัง”
ท่ามกลางสารพัดนโยบายของพรรคเพื่อไทย แยกออกเป็นด้านๆ ได้มากถึง 19 ด้าน ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นโยบายธงที่ในขณะนั้น คุณเศรษฐา ทวีสิน หนึ่งในแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย พูดในหลายโอกาศ ปราศัยบนหลายเวที เช่น อ.บัวใหญ่ จ.โคราช เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2566 ว่าเป็น “นโยบายใหญ่ที่สุดของเรา ที่เป็นที่เกรงกลัวของคู่แข่ง ของพรรคการเมือง คือนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท” ถือว่าเป็นนโยบายสุดปัง ที่พรรคเพื่อไทย หมายมั่นปั้นมือว่าจะนำไปสู่เป้าหมายแลนด์สไลด์ 310 เสียงได้ในที่สุด
ด้วยเหตุที่มันเป็นนโยบายหลัก และพูดตรงๆ ว่าถ้าทำแล้วก็จะเห็นผลได้ชัดเจน จับต้องได้ง่ายและเป็นรูปธรรม ไม่ต้องรอลุ้นให้ผลิดอกออกผลนานเหมือนนโยบายอื่นๆ อย่างเช่น “1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์” ที่โฆษณาไว้ว่าจะสร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัวมากถึง 20,000 บาท โดยถึงวันนี้ก็ยังไม่มีใครรู้แน่ว่า ครอบครัวไหนบ้างที่จะได้ จะได้มาอย่างไร และได้กันเมื่อไหร่ ขณะที่นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทนี้ คือการเอาเงินของประเทศ ไม่ว่าจะมาจากงบประมาณ หรือนอกงบประมาณ ไปกู้มา หยิบยืมมา หรือจะเสกขึ้นมาดื้อๆ ก่อนค่อยไปหามาจ่ายทีหลัง ก็ตามแต่ จำนวน 10,000 บาท ไปแจกให้กับพี่น้องประชาชนซื่อๆ นี่แหละ ฉะนั้น การที่รัฐบาลจะเร่งแสดงผลงานให้ออกมาทันกับความคาดหวังของพี่น้องประชาชน ก็ต้องผลักดันนโยบายนี้ให้เริ่มต้นได้เร็วที่สุด
แต่ยังไม่ทันได้เริ่มออกตัวดี คำวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้าน กระทั่งคำเตือนแรงๆ ก็ทยอยออกกันมาไม่ขาดสาย เริ่มตั้งแต่เหตุผลอันเป็นที่มาของการกำหนดนโยบาย ซึ่งพรรคเพื่อไทย อ้างไว้ว่าเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจของประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวดี จีดีพีโตต่ำกว่าศักยภาพ จึงต้องการกระตุ้นการบริโภค โดยหวังว่าจะไปผลักดันให้จีดีพีโตได้ถึง 5% ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ออกมาคาดการณ์ว่าจีดีพีของไทยในปีหน้า น่าจะโตแค่ราว 3.2% เท่านั้น
ก่อนที่จะชี้ให้เห็นประเด็นกันต่อ และเล่าเลยไปถึงเรื่องอื่นๆ ผมขอย้อนความทรงจำของพวกเราทุกคน ชนิดคำต่อคำ ว่าตอนเปิดตัวนโยบายนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 ณ ธันเดอร์โดม สเตเดียม เมืองทองธานี คุณเศรษฐา ทวีสิน ได้พูดอะไรเอาไว้บ้าง เอากันให้ชัดๆ ตั้งแต่ต้นจนจบ
“เราอาศัยเทคโนโลยี ใช้ดิจิทัลวอลเล็ตให้นำไปซื้อของใช้ในชีวิตประจำวันได้ เติมเงินดิจิทัลให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ใช้ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามบัตรประชาชน และต้องใช้ให้หมดภายใน 6 เดือน รอบที่แล้ว ผมไม่ได้บอกว่าเราจะใส่เงินกี่บาท บางคนก็เดาเอาไปว่า 500 บาทบ้าง 1,000 บาทบ้าง ผมขอประกาศวันนี้ พรรคเพื่อไทยเราคิดใหญ่ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในชุมชนทั่วประเทศ เราจะเติมเงินดิจิทัลเป็นจำนวน 10,000 บาท เงินดิจิทัลนี้จะอยู่ในมือถือของทุกคน และสามารถใช้จ่ายได้สะดวก ไม่จำเป็นต้องพกเงินสดอีกต่อไป นโยบายนี้จะก่อให้เกิดการหมุนเวียนของเงิน ร้านค้าที่อยู่ในชุมชนจะขายของได้มากขึ้น ผู้ผลิต ทั้ง SMEs จนถึงระดับอุตสาหกรรมจะขายสินค้าได้มากขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ไปจนถึงระดับประเทศ ให้เศรษฐกิจกลับมาติดเครื่องอีกครั้งหนึ่ง ทั้งหมดนี้จะทำให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การเพิ่มค่าแรง เพิ่มรายได้ให้ประชาชน สร้างความเจริญรุ่งเรืองอีกครั้ง ในขณะที่รัฐบาลจะได้รายได้กลับคืนมาในรูปแบบของภาษี และยกระดับเศรษฐกิจทั้งประเทศอย่างเป็นระบบ”
ว่ากันตามที่นายกรัฐมนตรีท่านเคยพูดเอาไว้ ก็ยืนยันหนักแน่นว่านโยบายนี้ มีวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ เรียกให้นักเศรษฐศาสตร์ ทั้งอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย และนักวิชาการร่วม 100 ชีวิต ออกมาเถียงว่าสภาพเศรษฐกิจอของไทยขณะนี้ กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว ไม่ได้แย่อย่างที่รัฐบาลพยายามบอก และการใช้มาตรการทำนองนี้ น่าที่จะได้ไม่คุ้มเสีย แทนที่จะนำเงินจำนวนนี้ไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น มันอาจนำไปสู่ปัญหาใหม่ เช่น เงินเฟ้อ ความเหลื่อมล้ำ และที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือภาระหนี้สินของลูกหลานในอนาคต
คนอีกส่วนหนึ่ง ก็ออกมาตั้งคำถามต่อว่า เป็นการสมเหตุสมผลหรือไม่ ที่อยู่ดีๆ รัฐบาลจะเอางบประมาณที่ยังไม่มีด้วยซ้ำ มาหารยาวแจกทุกคนที่มีอายุเกิน 16 ปี โดยไม่สนใจที่จะพิจารณาถึงความต้องการจำเป็น หรือฐานะทางเศรษฐกิจของพวกเขาประกอบ บีบให้อนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ต้องเปลี่ยนแผนมาเสนอทางเลือกให้คณะกรรมการชุดใหญ่ พิจารณาว่าจะให้เฉพาะผู้ยากไร้ตามฐานข้อมูลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 15-16 ล้านคน หรือขยับเพดานขึ้นไปตัดผู้ที่มีเงินเดือนเกินกว่า 25,000 บาท/เงินฝากเกินกว่า 100,000 บาท หรือเงินเดือนเกินกว่า 50,000 บาท/เงินฝากเกินกว่า 500,000 บาท ออกไป ซึ่งก็จะทำให้เหลือกลุ่มที่เข้าข่ายน้อยลง เป็น 43 และ 49 ล้านคน ตามลำดับ... แม้นางแบก อย่าง เจ๊แขก คำผกา จะออกมาตะโกนออกอากาศว่า “ดอกจันแปดล้านดอกจัน ว่าโครงการนี้ไม่ใช่โครงการช่วยคนจน” แต่ผู้ที่ติดตามข่าวนี้ก็จะงงๆ หน่อยว่า ถ้าจะใช้เกณฑ์ทำนองนี้มาตัดสิน แล้วมันจะไม่ใช่โครงการการช่วยคนจน ได้ยังไงกัน ?
คำถามต่อมาคือในแง่ของกฎหมาย เอาเข้าจริงแล้ว รัฐบาลสามารถดำเนินนโยบายนี้ได้จริงๆ หรือเปล่า การแจกสิ่งที่รัฐบาลประกาศไว้ชัดๆ เลยก่อนหน้านี้ ว่ามันคือ “เงินดิจิทัล” แม้ว่าช่วงหลังจะปฏิเสธว่ามันไม่ใช่เงิน และไม่ใช่คริปโตเคอเรนซี แต่เป็นเหรียญ (คูปอง) หรือสิทธิ์การใช้เงินที่ใช้บล็อกเชนก็ตาม นั้นจะขัดกับกฎหมายที่มีอยู่ คือ พรบ.เงินตรา พ.ศ.2501 หรือไม่ แม้ว่ากฎหมายจะบัญญัติให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้สามารถอนุญาตให้กระทำได้ รวมถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จะมีความเห็นสนับสนุนว่าสามารถดำเนินการได้ หากออกใช้เพียงแค่ชั่วคราวและเก็บกลับมาทั้งหมดภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่หากย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่ท่านนายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ รวมถึง คุณเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ด้วยก็ได้ ก็จะพบว่าความตั้งใจของพรรคเพื่อไทย คือการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล และการเดินหน้าไปสู่สังคมไร้เงินสด นั่นหมายความว่า เดิมที ลึกๆ แล้วพรรคเพื่อไทย คงไม่ได้อยากให้เงินจำนวนนี้อยู่ในระบบแค่ 6 เดือน หรืออย่างน้อย ก็ตั้งใจที่จะคงแพลตฟอร์มของการแลกเปลี่ยนในลักษณะนี้ไว้ใช้ต่อไปในระยะยาว... อีทีนี้ก็จะต้องเตรียมว้าวุ่นไว้ล่วงหน้า เพราะมันจะกลายเป็นเงินดิจิทัล และเป็นเงินสกุลใหม่ไปโดยสภาพ
คำที่ถามใหญ่ที่สุด และน่าตกใจที่ถึงวันนี้กลับยังไม่มีความชัดเจน ทั้งๆ ที่ก่อนจะนำมันมาใช้ในการหาเสียง พรรคเพื่อไทย มีหน้าที่ต้องแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบล่วงหน้าแล้ว เกี่ยวกับแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในนโยบายนี้ จากที่เหมือนจะง่าย นึกไว้ว่าจะไปเอาเงินค้างจ่ายของงบประมาณปี 2566 ไปปรับลดงบประมาณของโครงการอื่นๆ ลง บวกกับงบประมาณปี 2567 อีกจำนวนหนึ่ง ก็น่าจะเพียงพอให้ไม่ต้องไปกู้เงินมาเสริม ถึงตอนนี้ดูเหมือนรัฐบาลจะมืดแปดด้าน ไม่สามารถให้คำตอบกับคำถามที่ถูกถามทุกวันซ้ำๆ นี้ได้ แต่ไม่ว่าจะไปหยิบจับตรงไหนมา ก็ต้องยอมรับร่วมกันด้วยว่า เงินจำนวนมหาศาลนี้ไม่ได้มีใครให้มาฟรีๆ ที่จริงแล้วมันก็คือเงินภาษีของพี่น้องประชาชนเองนี่แหละ เอามาแจกคืนให้กับพี่น้องประชาชนเพื่อความสบายใจ แล้วรัฐบาลในอนาคตก็จะกลับมาเรียกเก็บเอาจากพี่น้องประชาชนอีกทีหนึ่ง เพื่อนำกลับไปเติมส่วนที่พร่องไปนี้ หรือแม้แต่จ่ายหนี้บวกดอกเบี้ยหากต้องไปกู้ใครเขามา
คำถามต่อมาเกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิ์นี้ เริ่มตั้งแต่ว่าทำไมรัฐบาลถึงไม่ยอมใช้ “เป๋าตัง” แต่ดึงดันที่จะสร้าง “ซุปเปอร์แอป” ขึ้นมาใหม่ เพราะนอกจากจะต้องเสียทั้งสตางค์และเวลาแล้ว ยังต้องเผชิญกับความสุ่มเสี่ยงจากการนำแอพใหม่ถอดด้าม มาใช้โดยยังไม่ทันได้ทดลองให้ระบบมีความเสถียรและปลอดภัย ในงานที่รัฐต้องลงเงินไปกว่าครึ่งล้านล้านบาท การยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าจำเป็นจะต้องให้ใช้สิทธิ์ในรัศมี 4 กิโลเมตรจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน เพราะต้องการช่วยเหลือร้านค้าในชุมชนให้เกิดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ แต่จนแล้วจนรอดก็ต้องยอมขยายให้เป็นหน่วยการปกครองระดับอำเภอ และเผลอๆ อาจได้ขยายไปถึงระดับจังหวัด เงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ อาทิ ในส่วนของร้านค้า ที่จำเป็นจะต้องอยู่ในระบบภาษี ซึ่งแม้จะเข้าใจได้ถึงความตั้งใจของรัฐบาลในการจัดเก็บรายได้ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ก็ย้อนกลับไปสู่ข้อเท็จจริงที่ว่า ร้านค้าจำนวนไม่น้อยคงเลือกที่จะไม่ร่วมโครงการ เพราะกลัวภาระทางภาษีที่จะเกิดขึ้นตามมา แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในโครงการ “คนละครึ่ง”
คำถามที่ใหญ่ไม่แพ้กัน คือแล้วผลลัพธ์ของโครงการจะเป็นไปอย่างที่รัฐบาลคาดหวังไว้หรือไม่ เริ่มจากมันจะไปทำให้เกิดการบริโภคที่เพิ่มขึ้นจริงหรือไม่ แน่นอนว่าถ้าได้เงิน 10,000 บาทนี้ไป พี่น้องประชาชนคงนำไปซื้อสินค้า แต่มันจะเป็นการซื้อสินค้าที่มากขึ้นกว่าเดิม หรือก็เป็นการซื้อสินค้าในปริมาณเท่าเดิมนั่นและ แต่แทนที่จะใช้เงินตัวเอง ก็เป็นเงินที่รัฐบาลแจกมาแทน ยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ปรกติผมเคยกินก๋วยเตี๋ยวมื้อละ 3 ชาม พอได้เงินมาแล้วจะสั่งเพิ่มเป็น 4 ชามหรือไม่ เพราะถ้ายังคงสั่ง 3 ชามเหมือนเดิม ไม่ต้องเป็นนักเศรษฐศาสตร์ก็คงพอจะบอกได้ว่า ปริมาณการบริโภคมันก็เท่าเดิมนั่นแหละ ไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นพายุหมุนอย่างที่รัฐบาลคาดหวัง บทเรียนจากประเทศญี่ปุ่น ที่ทาง คุณศิริกัญญา ตันสกุล จากพรรคก้าวไกล ออกมาโจมตีว่าเป็นต้นแบบของโครงการนี้ ชี้ว่าโครงการของเขาเมื่อปี 2542 นั้นก็ก่อให้เกิดผลกระทบที่น้อยมากจนน่าตกใจเหมือนกัน
ปัญหาอื่นๆ ที่ถูกกล่าวถึงอีก ก็เช่น ความล่าช้าในการทำธุรกิจผ่านระบบบล็อกเชน ความกังวลเรื่องความปลอดภัย ทั้งความเป็นไปได้ที่ระบบจะโดนแฮก และความปลอดภัยของข้อมูลการใช้จ่ายของประชาชน แม้จะไม่ใช่เรื่องเล็กๆ แต่สำหรับผมแล้ว ก็ยังไม่ใหญ่เท่าความเป็นไปได้ที่การดำเนินนโยบายนี้ จะนำไปสู่ความเสี่ยงเดิมๆ เริ่มจากการก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศ กลายเป็นเงื่อนไขและข้ออ้างในการล้มล้างรัฐบาล ลามไปสู่การรัฐประหาร ที่กกล่าวเช่นนี้นี่ไม่ได้นิยมชมชอบหรืออยากให้เกิดขึ้นหรอกนะครับ แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และเครือข่ายของเขาก็ขยับตัวลับมีดรอแล้ว ที่สำคัญคือวงรอบของการรัฐประหารมันก็ห่างมาสมควร เงื่อนไขอื่นๆ เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็กำลังจะบวกเพิ่มเข้ามา ก็ให้อดรู้สึกว้าวุ่นไปล่วงหน้าไม่ได้จริงๆ ครับ
กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง... จึงกลายมาเป็น “คิดไป ทำไป”
ส่วนตัวแล้ว ต้องบอกว่าผมเห็นใจพรรคเพื่อไทย และรัฐบาลในขณะนี้มาก เพราะอยู่ในสถานการณ์ที่ พี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ เรียกไว้ว่า “กลับไม่ได้ ไปไม่ถึง” คือใช้นโยบายหาเสียงมาแล้ว ออกตัวมาซะแรง จะไม่ทำก็คงไม่ได้ เครดิตทางการเมืองที่สั่งสมมาจาก “คิดใหม่ ทำใหม่” สู่ “คิดใหญ่ ทำเป็น” จะพังพินาศ รอบหน้าพี่น้องประชาชนที่ไหนจะเลือก แต่ครั้นจะดึงดันเดินไปให้สุด ก็เห็นว่ามีปัญหาและอุปสรรคใหญ่ๆ รออยู่เพียบ พลาดท่าเสียทีอาจต้องติดคุกติดตารางกันวุ่นวายเหมือนคดีจำนำข้าว อดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังต้องหนีคดีอยู่ต่างประเทศกลับไทยไม่ได้ คุณบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ก็ยังต้องติดอยู่ในคุกอีกยาว
การดำเนินนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของพรรคเพื่อไทย จึงตกอยู่ในสภาพ “คิดไป ทำไป” เปลี่ยนแปลงจากที่เคยหาเสียงไว้รายวัน ยังหาความชัดเจนจริงๆ ไม่ได้ ทั้งในแง่ของรายละเอียดและกำหนดการ ใครทักอะไร ใครถามอะไร ก็ต้องได้กลับไปคิดทบทวนอยู่ตลอด ซึ่งก็ว่าไม่ได้นะครับ คนโบราณยังถือ ขนาดจิ้งจกร้องทักก็ยังต้องระวัง เล่นเอาถึงขนาด คุณจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ต้องยอมรับกันดื้อๆ ผ่านสื่อแล้วว่า “เราพ้นเรื่องการหาเสียงไปนานแล้ว” ทำให้ขณะนี้ นโยบายนี้ถูกติดแฮชแท็กว่าเป็นหนึ่งในเรื่อง “#เพื่อการโฆษณา” ไปเรียบร้อยแล้ว
คงต้องรอลุ้นกันอีกสักพัก ว่าสุดท้ายนโยบายนี้จะไปจบที่ตรงไหนและอย่างไร แต่สิ่งที่ผมต้องฝากกันไว้ ณ ตรงนี้ ก็คือบทเรียนที่ทุกพรรคการเมืองจำเป็นจะต้องตระหนัก ว่าการเมืองไทยได้พัฒนาการมาค่อนข้างไกลจากเดิมมาก นอกจากพรรคการเมืองจะต้องคิดนโยบายมาเพื่อใช้ในการหาเสียงจากพี่น้องประชาชนแล้ว ถ้าประชาชนเขาให้ความไว้วางใจเลือกตั้งให้เข้าไปทำหน้าที่จริงๆ ก็ต้องสามารถทำให้ได้อย่างที่รับปากพวกเขาไว้ด้วย จะมาคิดไปทำไปแบบนี้ไม่ได้ เพราะนอกจากมันจะฟ้องว่าที่ผ่านมาคุณพูดมั่วๆ ไปอย่างนั้นเองแล้ว มันยังจะกลายเป็นความเสี่ยงให้การดำเนินนโยบายของคุณไม่รัดกุม อาจเกิดความผิดพลาดขึ้นได้ในการนำไปปฏิบัติจริงๆ และสำคัญที่สุด คือมันจะกลายเป็นความเสื่อมของพรรคการเมือง ที่ประชาชนเขาจะหมดความเชื่อถือศรัทธา... ก็ไหนว่า “ไม่ได้โม้” ?
ศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ
ผู้อำนวยการ สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
อีเมล [email protected]
ข่าว
21 พ.ย. 2567 16:08 29 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 14:38 52 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 14:23 40 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 13:26 57 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 13:24 62 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 13:20 35 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 12:40 78 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 12:17 64 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 11:57 70 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 11:54 58 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 11:45 93 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 10:56 91 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 10:54 114 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 10:33 85 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 10:26 92 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 09:57 85 views