วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567
13 ต.ค. 2566 23:56 | 7295 view
@varin
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เปี่ยมด้วยพระอัจฉริยภาพและความสามารถ ทรงอุทิศพระวรกายในการประกอบพระราชกรณียกิจ ตลอด ๗๐ ปีที่ทรงครองราชสมบัติ ซึ่งพระราชกรณียกิจที่โดดเด่นยังประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์มากมาย ได้แก่
* พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงได้รับการยกย่องว่า ทรงเป็นปราชญ์แห่งแผ่นดินที่ทรงพระปรีชาสามารถในเรื่องน้ำ โดยได้พระราชทานแนวพระราชดำริการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศไทย ตั้งแต่บริเวณต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ทั้งการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ การจัดการน้ำใต้ดิน การแก้ไขปัญหาอุทกภัย แก่ผู้ปฏิบัติงานด้านการชลประทานของประเทศอยู่เสมอ ทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ดังพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานไว้ว่า “น้ำคือชีวิต หากไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้” โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการฝนหลวง โครงการแก้มลิง โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ เป็นต้น
* พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน
ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ เพื่อการแก้ปัญหาดินในทุกลักษณะ ทั้งดินปนทราย ดินเปรี้ยว ดินเค็ม และการพังทลายของดิน เพื่อให้เกษตรกรทำการเพาะปลูกได้ดีขึ้น การทรงงานเรื่องดินเป็นที่ประจักษ์ต่อนักวิทยาศาสตร์ด้านดินทั่วโลก ในปี ๒๕๔๗ สหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ (International Union of Soil Sciences) ได้มีมติเสนอให้วันที่ ๕ ธันวาคม (วันพระบรมราชสมภพ) เป็นวันดินโลก เพื่อรำลึกถึงพระปรีชาสามารถและพระมหากรุณาธิคุณด้านการจัดการทรัพยากรดิน โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการแกล้งดิน แก้ปัญหาดินเปรี้ยว การศึกษาวิจัยการปลูกหญ้าแฝก โครงการพัฒนาที่ดินบริเวณวัดมงคลชัยพัฒนา ตามหลักทฤษฎีใหม่ – ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง เป็นต้น
* พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้
ทรงพระราชดำริว่าป่าไม้เป็นแหล่งทรัพยากรสำคัญของชาติ และนำมาซึ่งความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การทรงงานในเรื่องป่าไม้ จึงผสานเป็นแนวทางเดียวกันกับการจัดการทรัพยากรน้ำและดิน ในปี ๒๕๐๔ ประเทศไทยเข้าสู่ยุคสมัยของการพัฒนา ส่งผลให้พื้นที่ป่าลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เมื่อทรงพบว่าพื้นที่ป่าไม้ถูกทำลายขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น จึงทรงพิจารณาศึกษาหาแนวทางช่วยเหลือให้สอดคล้องกับสภาพภูมิประเทศและสภาพวิถีชีวิตของราษฎรในพื้นที่ โครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการหลวง การพระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ การปลูกป่า ๓ อย่าง ประโยชน์ ๔ อย่าง รวมถึง การปลูกป่าทดแทน และการปลูกป่าชายเลน เป็นต้น
* โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มีพระราชประสงค์จะพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของราษฎร ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมให้ดีขึ้น จึงทรงศึกษาข้อมูลและทรงทดลองปฏิบัติงานด้านเกษตรกรรมในบริเวณ เขตพระราชฐาน พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ในชื่อ “โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา” เมื่อปี ๒๕๐๔ ได้แก่ การเลี้ยงโคนม การเพาะเลี้ยงพันธุ์ปลานิล ปลาหมอเทศ แปลงนาทดลอง ป่าไม้สาธิต โรงสีข้าว โรงบดแกลบ การคิดค้นพลังงานทดแทน พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และไบโอดีเซล เพื่อนำข้อมูลจากการทดลองมาเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติในการดำรงชีวิต เมื่อผลการศึกษาทดลองเป็นที่น่าพอใจแล้ว จึงพระราชทานแนวพระราชดำริไปยังหน่วยงานผู้ปฏิบัติและเกษตรกร
* พระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม
ในอดีตเส้นทางการสัญจรของประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นถนนดินลูกรัง ราษฎรในถิ่นที่ห่างไกลต้องอาศัยเกวียนหรือสัตว์เป็นพาหนะ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงได้พระราชทานพระราชดำริให้สร้างเส้นทางคมนาคมสัญจรหลายโครงการ เพื่อประโยชน์ของราษฎร ต่อมาเมื่อก้าวเข้าสู่โลกยุคใหม่ “โลกาภิวัตน์” การเพิ่มขึ้นของจำนวนยวดยานพาหนะอย่างรวดเร็ว ทำให้กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีปัญหาด้านการจราจร จึงทรงติดตามปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยพระองค์เองอย่างต่อเนื่อง และได้พระราชทานแนวพระราชดำริ เพื่อแก้ปัญหาจราจร เช่น โครงการสร้างถนนวงแหวนรัชดาภิเษก โครงข่ายถนนจตุรทิศตะวันตก-ตะวันออก โครงการสร้างถนนกาญจนาภิเษก เป็นต้น
* พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข
เมื่อต้นรัชสมัย ราวปี ๒๔๙๖ การแพทย์และการสาธารณสุขของไทยยังไม่เจริญนัก เกิดโรคระบาดอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โรคเรื้อน อหิวาตกโรค โรคโปลิโอ และโรคเท้าช้าง ทรงตระหนักว่าสุขภาพอนามัยของราษฎรเป็นสิ่งสำคัญเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ ในช่วงแรกจึงเน้นเรื่องการแพทย์ และการสาธารณสุข เช่น พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกมหิดลวงศานุสรณ์ สภากาชาดไทย พระราชทานพระราชดำริให้พัฒนาหุ่นยนต์คุณหมอพระราชทาน ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ก่อตั้งมูลนิธิ และพระราชทานทุนส่งเสริมการศึกษาด้านการแพทย์และสาธารณสุข ได้แก่ มูลนิธิราชประชาสมาสัย มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ทุนโปลิโอสงเคราะห์ ทุนปราบอหิวาตกโรค ทุนวิจัยประสาท รวมทั้งหน่วยแพทย์พระราชทาน และหน่วยทันตกรรมพระราชทาน
* พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นสำหรับเป็นสถานที่ศึกษาของพระราชโอรสและพระราชธิดา บุตรหลานข้าราชบริพารและประชาชนทั่วไป ได้แก่ โรงเรียนจิตรลดา โรงเรียนราชประชาสมาสัยฯ เป็นต้น รวมทั้งทรงรับอุปถัมภ์โรงเรียนไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์และในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ก่อตั้งกองทุนการศึกษาให้แก่เยาวชนไทย ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงปริญญาเอก และพระราชทานทุนวิจัยสาขาต่างๆ อาทิ ทุนพระราชทานเพื่อการศึกษาสงเคราะห์ มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ฯ ทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ทุนเล่าเรียนหลวง ทุนมูลนิธิภูมิพล เป็นต้น
* พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเป็นพุทธมามกะที่ทรงพระราชศรัทธาเลื่อมใสในพุทธศาสนา ทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี ณ พระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อปี ๒๔๙๙ และประทับศึกษาพระธรรมวินัย ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๑๕ วัน ในฐานะองค์พุทธศาสนูปถัมภก ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาตามราชประเพณี นอกจากนี้ ยังได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อทำนุบำรุง และปฏิสังขรณ์พระอารามต่างๆ อีกทั้งทรงเป็นเอกองค์อัครศาสนูปถัมภก ทรงอุปถัมภ์ทุกศาสนาในแผ่นดินไทย ทั้งคริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดู และซิกข์
* พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระราชดำริว่า ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่ทรงคุณค่า เป็นหลักฐานที่แสดงถึงความเป็นชาติที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่อดีต จึงควรอนุรักษ์และฟื้นฟูให้คงอยู่สืบไป เช่น พระราชพิธี บางอย่างที่เลิกปฏิบัติแล้ว ทรงให้ฟื้นฟูขึ้นเสียใหม่ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองและประชาชน เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ การจัดขบวนพยุหยาตราทางชลมารค อีกทั้งได้พระราชทานแนวพระราชดำริเกี่ยวกับการอนุรักษ์และเก็บรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุที่ขุดพบตามท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งกรมศิลปากรได้สนองพระราชดำริด้วยการจัดตั้งพิพิธภัณฑสถานขึ้นในภูมิภาคต่างๆ
* พระราชกรณียกิจด้านการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ
ระหว่างปี ๒๕๐๒ – ๒๕๑๐ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ ทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยพระราชทานเหตุผลของการเสด็จพระราชดำเนินเยือนว่า “…ในสมัยนี้ ประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าใหญ่หรือเล็ก ต้องพึ่งพาอาศัยกันอยู่เสมอ…จึงควรพยายามให้รู้จักนิสัยใจคอกัน ทั้งต้องผูกน้ำใจกันไว้ให้ดี…” เพื่อให้เกิดความเข้าใจและความร่วมมือกันในด้านต่างๆ
ขอบคุณข้อมูล จาก www.royaloffice.th
ข่าว
21 พ.ย. 2567 18:01 131 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 17:59 128 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 16:08 122 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 14:38 148 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 14:23 132 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 13:26 145 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 13:24 151 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 13:20 83 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 12:40 160 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 12:17 143 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 11:57 157 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 11:54 143 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 11:45 180 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 10:56 177 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 10:54 207 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 10:33 169 views