วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567
11 ต.ค. 2566 16:35 | 7707 view
@varin
หลังเสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อปี ๒๔๙๔ และประทับในพระราชอาณาจักรเป็นการถาวรแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร แม้ว่าในช่วงเวลานั้นเส้นทางการคมนาคมยังเต็มไปด้วยความยากลำบาก
การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการครั้งแรก เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี ๒๔๙๘ ในท้องถิ่นต่าง ๆ ทุกภูมิภาคของประเทศ ตามลำดับดังนี้
• ภาคกลาง ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๑ และวันที่ ๒๗ – ๒๙ กันยายน ๒๔๙๘
• ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๒ – ๒๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๘ เป็นเวลา ๑๙ วัน
• ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ – ๑๗ มีนาคม ๒๕๐๑ เป็นเวลา ๑๙ วัน
• ภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๖ – ๒๖ มีนาคม ๒๕๐๒ เป็นเวลา ๒๐ วัน
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทรงถือเป็นธรรมเนียมที่จะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักในแต่ละภูมิภาค เพื่อทรงงานช่วยเหลือพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารเป็นประจำทุกปี ภาคเหนือ ภูพิงคราชนิเวศน์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูพานราชนิเวศน์ ภาคใต้ ทักษิณราชนิเวศน์ รวมทั้ง พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่างๆ ทำให้ทรงรับรู้ถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร ดังเช่นเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อปี ๒๔๙๕ ทรงได้รับทราบถึงปัญหาและความยากลำบากในการเดินทางสัญจรของราษฎร จึงเป็นที่มาของโครงการสร้างถนนสายห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการพระราชดำริด้านพัฒนาชนบทโครงการแรก ที่มุ่งช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ราษฎรกำลังประสบอยู่
ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้มีน้ำจืดไว้สำหรับบริโภคและอุปโภคได้ตลอดทั้งปี นับเป็นโครงการพระราชดำริด้านชลประทานโครงการแรก หลังจากนั้น ทรงริเริ่มโครงการด้านการพัฒนาชนบทอีกหลากหลายโครงการ ทั้งโครงการที่เกี่ยวกับดิน น้ำ ป่าไม้ การประมง และการปศุสัตว์ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังเป็นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลทำให้ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ ประเทศไทยมีโครงการพระราชดำริ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการส่วนพระองค์ โครงการตามพระราชประสงค์ จำนวนกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ และมีศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๖ แห่ง ในทุกภูมิภาคของประเทศ พระราชกรณียกิจที่ยังประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์มากมายเหลือคณานับ ทั้งการแพทย์สาธารณสุข การเกษตร การชลประทาน การพัฒนาที่ดิน การศึกษา การพระศาสนา การสังคมวัฒนธรรม การคมนาคม อีกทั้งยังทรงขจัดปัญหาทุกข์ยากของประชาชนในชุมชนเมือง เช่น จราจร อุทกภัย และน้ำเน่าเสีย รวมถึงทรงริเริ่มโครงการการช่วยสงเคราะห์ และอนุรักษ์ช้างของไทยอีกด้วย
แม้ในยามประเทศประสบภาวะเศรษฐกิจ ก็ได้พระราชทานแนวทางดำรงชีพแบบ “เศรษฐกิจพอเพียง” และ “ทฤษฎีใหม่” ให้ราษฎรได้นำมาประยุกต์ใช้ได้ในทุกระดับ โดยเน้น “ทางสายกลาง” อันจะทำให้ชีวิตตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมั่นคง สมดุล พึ่งพาตนเอง สามารถผ่านพ้นวิกฤตการณ์ต่างๆ ไปได้ด้วยดี และมีความสุขที่ยั่งยืนท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ
ขอบคุณข้อมูล จาก www.royaloffice.th
ข่าว
24 พ.ย. 2567 14:52 77 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 14:51 79 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 14:48 77 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 14:44 119 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 14:43 90 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 14:41 67 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 14:38 73 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 11:38 131 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 11:30 159 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 11:28 120 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 11:27 106 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 11:24 108 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 11:22 119 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 11:18 118 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 11:12 119 views
ข่าว
24 พ.ย. 2567 11:04 452 views