วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567
26 ก.ย. 2566 09:40 | 26894 view
@varin
"นักการเมือง" ที่ไม่ถูกด่านั้นไม่มี ”
หน้าข่าวการเมืองในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยประเด็นร้อนแรงที่เกี่ยวข้องกับ “นักการเมือง” ความคาดหวังของผู้คนในสังคมที่มีต่อพฤติกรรมของพวกเขา และความผิดหวังที่พวกเขามีพฤติกรรมไม่ตรงกับความคาดหวัง ไม่ใช่แค่ในแง่ของกฎหมาย แต่รวมถึงคุณธรรม-จริยธรรมด้วย จึงเกิดเป็นอาการผิดหวัง กลายมาเป็นความว้าวุ่นกันไปทั่วทั้งประเทศ
ใครจะถูก-จะผิด-จะดี-จะเลว อย่างไร คงเกินกว่าอำนาจหน้าที่ของผมจะเข้าไปตัดสิน และไม่ใช่ความตั้งใจของผมที่จะนำมาเล่า หรือชักชวนพูดคุยกันอีกในบทความนี้ ฉะนั้น หากผู้อ่านท่านใดกำลังคาดหวังเรื่องราวเหล่านั้นอยู่หละก็ อาจเปลี่ยนไปอ่านคอนเทนต์อื่นๆ หรือไม่ก็กดปิดหน้าจอ แล้วไปหาอะไรที่เป็นประโยชน์กว่าทำแทน
ในฐานะคนที่เรียนและสอนรัฐศาสตร์ คำว่า “การเมือง” คือศัพท์พื้นฐานแรกๆ ที่จำเป็นจะต้องมีความรู้และความเข้าใจ ก่อนที่จะเดินหน้าไปสู่การศึกษารายละเอียดของวิชา และวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นและเกี่ยวข้อง ให้ได้อย่างมีประสิทธิผล พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่งงและไม่มั่ว นั่นเอง
หนึ่งในคำนิยามที่สั้นกระชับ ได้ใจความ และสำคัญคือฮิตที่สุด ก็คือ “การเมือง คือ อำนาจในการแบ่งสรรสิ่งมีค่า” ของ เดวิด อีสตัน (David Easton, 24 มิถุนายน 1917 - 19 กรกฎาคม 2014) อดีตศาสตราจารย์สาขารัฐศาสตร์ จาก ม.ชิคาโก สหรัฐอเมริกา
การทำความเข้าใจนิยามข้างต้นให้ได้ภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อาจต้องการการขยายความอีกสักเล็กน้อย คือ “สิ่งมีค่า” ที่ว่านั้น โดยธรรมชาติแล้วย่อมเป็นที่ต้องการ และมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของสมาชิกของสังคม ซึ่งก็อาจต้องขยายความต่อไปอีกว่า ไอ้ความต้องการของสมาชิกของสังคมที่ว่านี้ ก็เป็นความต้องการที่ไม่มีขีดจำกัด เรียกง่ายๆ ว่ามันมีปริมาณที่สวนทางกันนั่นเอง และความต้องการส่วนเกินนี้นี่เอง ที่ไปกำหนดและเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งที่อยู่ในสถาพไม่เพียงพอเหล่านั้น
ยกตัวอย่างพอให้เห็นภาพก็เช่น ดิน น้ำ หรือแม้กระทั่งอากาศ ในวันที่จำนวนผู้คนบนโลกใบนี้ยังมีไม่มาก ปริมาณของสิ่งเหล่านี้ก็ต้องถือว่ามีอยู่เหลือเฟือ เกินกว่าความต้องการ การจะไปเก็บกักหรือตักมันเอามาขายนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ เพราะคงไม่มีใครสนใจจะซื้อหา
คนเฒ่าคนแก่หลายคนยังเล่าให้ฟังได้ว่า สมัยก่อน ปู่ย่าตาทวดแค่เอาไม้ไปปักเป็นหลักเขต ไม่ต้องเสียสตางค์ซื้อ ถือครองและทำกินกันเรื่อยมา จนทางการออกเป็นโฉนดให้ ทุกวันนี้จึงกลายเป็นเศรษฐีที่ดิน แต่ปัจจุบัน แค่การจะถมดินให้ที่ขนาดสัก 1 ไร่ สูงขึ้นสัก 1 เมตร ก็ต้องเตรียมเงินไว้ไม่ต่ำกว่าครึ่งล้านบาทแล้ว
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในวันที่ทรัพยากรซึ่งเคยไร้มูลค่าเหล่านี้ ปนเปื้อนจนมีสภาพตามธรรมชาติเป็นพิษ ไม่สามารถนำมากินมาใช้ได้อย่างปลอดภัยในทันที เช่น น้ำดื่ม ที่ทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่ก็ต้องซื้อหาน้ำบรรจุขวดมากิน ฉากในหนังเก่าๆ ที่ตักดื่มได้ฟรีจากแม่น้ำลำคลองนั้น ไม่มีให้เห็นนอกจออีกต่อไป ส่วนที่ว่ามนุษยชาติจะวิกฤต ถึงขั้นต้องซื้ออากาศบรรจุกระป๋องมาใช้หายใจเมื่อไหร่นั้น แม้จะยังไม่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง แต่ฉากในหนังอนาคตก็มีให้เห็นมาพักใหญ่แล้วเหมือนกัน
ในภาพใหญ่ของชุมชนทางการเมือง “ผู้ที่เข้ามาใช้อำนาจในการแบ่งสรรสิ่งมีค่า” เราจึงเรียกพวกเขาว่า “นักการเมือง” โดยการกระทำของพวกเขา ภายใต้รูปแบบการปกครองในปัจจุบัน ที่เป็นรูปธรรมที่สุด และประชาชนอย่างเราๆ สามารถติดตามได้ด้วยตนเองทุกปี จากการท่ายถอดสดทางวิทยุ-โทรทัศน์ คือ “การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี” หรือแผนการใช้จ่ายเงินของประเทศ จำนวนราวๆ 3 ล้านล้านบาท ว่าจะแบ่งสรรมันให้ใครบ้าง เพื่อนำไปใช้ทำอะไร จำนวนเท่าไหร่ และอย่างไร
การอนุมัติขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ หรือแบ่งให้กองทัพไปซื้อรถหุ้มเกราะ เครื่องบินรบ และเรือดำน้ำ ให้ ก.เกษตรและสหกรณ์ ไปอุดหนุนต้นทุนการผลิต พยุงราคาสินค้าเกษตร และซื้อหนี้สินให้เกษตรกร ให้ ก.คมนาคม ไปสร้างรถไฟฟ้าใน กทม. และปริมณฑล หรือถนนในบางจังหวัด หรือแม้แต่ จ่ายเป็นค่าเดินทาง-ที่พักให้ผู้บริหารของรัฐบาลและหน่วยงานรัฐต่างๆ ไปประชุม-ดูงานในต่างประเทศ โดยไม่ต้องนับรวมการโกงกินเงินอีกจำนวนหนึ่ง เอาไปเข้าพกเข้าห่อของตัวเองและพรรคพวก กระทั่งการกำหนดเป็นนโยบายให้เอกชน ปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ น่าจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้ทุกคน รู้ซึ้งถึงสิ่งที่เรียกว่าการเมือง และการกระทำของบุคคลที่เรียกว่านักการเมือง อย่างเป็นรูปธรรมได้โดยง่ายยิ่งขึ้น
“นักการเมือง” กับการ “ถูกด่า”
ตัวอย่างการตัดสินใจเพื่อแบ่งสรรงบประมาณประจำปีข้างต้น อาจเป็นเรื่องที่ถูกใจ และเห็นด้วยว่าควรทำ ถ้ามองจากมุมของผู้ที่ได้ประโยชน์ จะโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม เช่น ถ้าเราเป็นข้าราชการ ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับนโยบายการขึ้นเงินเดือนให้กับข้าราชการ โดยไม่สนว่าชาวบ้าน ในฐานะเจ้าของภาษี จะเห็นด้วยหรือไม่
ทำนองเดียวกัน ถ้าเราเป็นชาวนา ก็มีแนวโน้มที่จะเห็นด้วยกับนโยบายการอุดหนุนต้นทุนการผลิต การพยุงราคาสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำหรือการประกันราคา รวมถึงการที่รัฐบาลเข้ามาช่วยซื้อหนี้ให้ โดยไม่สนใจความเห็นของ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) หรือแม้แต่ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
เอากันให้ถึงที่สุด ถ้าเราเป็นชาวสุพรรณบุรี ก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกขอบคุณต่อถนนหนทาง และสิ่งที่ คุณบรรหาร ศิลปอาชา ทำไว้ให้กับชาวบรรหารบุรี และให้การสนับสนุนพรรคชาติไทยพัฒนา ในการเลือกตั้ง ชนิดยกจังหวัด ทั้ง 5 เขต เช่นเดียวกับที่ชาวบุรีรัมย์ ก็มีแนวโน้มที่จะรู้สึกขอบคุณต่อความเจริญ และสิ่งที่ คุณเนวิน ชิดชอบ ทำไว้ให้กับชาวเนวินบุรี และให้การสนับสนุนพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้ง ทั้ง 10 เขต โดยโนสน โนแคร์ ว่าคนจากภูมิภาคอื่นๆ อย่างเช่น คุณชวน หลีกภัย จะบ่นอยู่บ่อยๆ ว่า “มีการเลือกปฏิบัติไม่พัฒนาภาคใต้”
ย้อนกลับไปที่จุดตั้งต้น ว่าเงินงบประมาณของประเทศไทย ปีๆ หนึ่ง มีอยู่ราว 3 ล้านล้านบาท ถ้าแบ่งให้คนกลุ่มหนึ่งหรือพื้นที่หนึ่งได้มากหน่อย คนกลุ่มอื่นหรือพื้นที่อื่นที่เหลือ ก็ย่อมจะได้รับการปันส่วนน้อยหน่อย ฉะนั้น เพื่อให้การแบ่งสรรปันส่วนดังกล่าว สามารถสะท้อนความต้องการของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ ได้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ (โดยต้องย้ำนะครับ ว่าไม่ได้หมายถึงการแบ่งอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม หรือสมเหตุสมผล) การเลือกตั้งเพื่อให้ได้ผู้แทนราษฎร เข้าไปทำหน้าที่รักษาผลประโยชน์แทนตนเองในสภา จึงเป็นกลไกที่น่าเชื่อได้ว่า จะมีประสิทธิผลที่สุด
อย่างไรก็ตาม ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดทั้งหมด ยังไม่มีนักการเมืองคนไหนในประวัติศาสตร์โลก ที่สามารถแบ่งปันผลประโยชน์เท่าที่มี ให้แก่ทุกภาคส่วนของสังคมได้ตามที่พวกเขาต้องการทั้งหมด พูดง่ายๆ ก็คือ ได้รับแต่คำชมเท่านั้น ไม่ถูกด่าเลย เพราะอย่างที่ผมได้บอกไปแล้ว ว่าทรัพยากรที่นำมาใช้แจกกันนั้น ไม่ว่าประเทศไหนๆ ก็ล้วนมีอยู่น้อยกว่าความต้องการของผู้รับแจกทั้งสิ้น มันจึงมีทั้งคนที่พอใจ-ถูกใจ และคนที่ไม่พอใจ-ไม่ถูกใจ กับการแบ่งนั้นๆ เสมอ เรียกว่าไม่มีทางรอด ถูกด่าแหงๆ จะมากหรือน้อยเท่านั้นเอง
สิ่งที่นักการเมืองทั่วโลกต้องตัดสินใจก็คือ แล้วจะแบ่งอย่างไรให้เป็นประโยชน์กับตัวของเขา และพรรคพวกของเขามากที่สุด พูดกันอย่างไม่ดัดจริตนะครับ นักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง เขาก็อยากได้คะแนนเสียง อยากชนะการเลือกตั้ง เข้าไปทำหน้าที่ในสภา ไปเป็นรัฐบาล แต่ในเมื่อไม่สามารถทำให้ถูกใจประชาชนทุกคนได้ ก็ต้องเลือกทำในสิ่งที่ถูกใจประชาชนเพียงจำนวนหนึ่ง ที่มากพอที่จะทำให้ได้รับชัยชนะ แม้ว่าจะต้องถูกประชาชนที่เหลือด่าเอาบ้าง ก็ตาม
“นักการเมือง” เป็นแค่ “คนธรรมดา” ไม่ใช่ “เทวดา”… ด่าได้ และควรด่า
ว่ากันว่า หากเราอยากที่จะรู้จักตัวเองให้ดียิ่งขึ้น ก็จงมาเป็นนักการเมือง เพราะจะมีคนช่วยขุดคุ้ยประวัติความเป็นมาของเราอย่างละเอียด ชนิดที่บางเรื่อง อาจจะรู้ดีกว่าตัวของเราเองเสียอีก บางเรื่อง ตัวของเราเองก็อาจหลงลืมไปนานแล้ว ส่วนใครที่ไม่อยากถูกด่า รับไม่ได้กับการโดนด่า ก็จงอย่าแม้แต่จะคิด ที่จะมาเป็นนักการเมือง
เพราะภายใต้กรอบของกฎหมาย ประชาชนย่อมมีสิทธิที่จะตรวจสอบ และมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์นักการเมือง ได้อย่างเต็มที่ และผมยืนยันว่า สิ่งที่ประชาชนควรจะกระทำ ในฐานะของพลเมืองที่ดี ก็คือการตรวจสอบอย่างแข็งขัน และวิพากษ์วิจารณ์นักการเมืองอย่างตรงไปตรงมา เพราะในท้ายที่สุด ประโยชน์จะเกิดขึ้นและตกแก่สังคมโดยภาพรวม
ด้วยวิธีคิดทำนองเดียวกับที่นักการเมือง เลือกที่จะแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับผู้สนับสนุนของตน มากกว่าที่จะแบ่งปันมันให้กับกลุ่มที่ไม่ใช่ผู้สนับสนุนของพวกเขา นี่ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ความโกรธแค้นฆ่าพ่อล้างตระกูลกันมา หรือแย่งจีบสาวกันตอนวัยรุ่น แต่เป็นการตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ด้วยเหตุด้วยผล
เมื่อประชาชนคนหนึ่ง จะเสนอตัวเองเข้าไปเอง หรือถูกใครอุ้มให้ต้องเข้าไปก็ตาม เมื่อตกลงปลงใจที่จะเข้าไปทำหน้าที่ เกี่ยวข้องกับการแบ่งสรรเงินภาษีของพี่น้องประชาชนทุกคนแล้ว ก็ต้องทำหน้าที่ของตนตามที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด ถ้ามีอะไรขาดตกบกพร่องไป ประชาชนคนอื่นๆ ที่เป็นเจ้าของเงินภาษี เกิดความไม่พออกพอใจ ก็ย่อมจะว่ากล่าวตักเตือน แหกประจานกันบนเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ได้ เพื่อให้แก้ไข หรือไม่ก็ลาออกจากตำแหน่งไปเสีย ต้องตระหนักว่าการถูกด่านี้เป็นเรื่องปรกติของวิชาชีพ และนักการเมืองที่ไม่ถูกด่านั้นไม่มี จะมาโกรธ เหวี่ยงกลับ หรือใช้อำนาจไปคุกคามเขาไม่ได้
กรณีวิวาทะของ คุณอมรัตน์ โชคปมิตรกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล กับ คุณปีใหม่ ศิริกุล แฟนคลับพรรคเพื่อไทย จ.นครปฐม ที่เลยเถิดจากการด่าทอกันบนเฟซบุ๊ก ไปสู่การคุกคามกันถึงที่บ้านและที่ทำงาน นับเป็นตัวอย่างร่วมสมัยที่ดี ผมเชื่อว่าเมื่อได้เห็นรายละเอียดและความเป็นมา ทุกคนต้องเริ่มต้นจากการเห็นใจคุณอมรัตน์ ว่าเธอโดนมาหนักมากจริงๆ เป็นใครก็คงตัดสินใจทำแบบเธอ แต่ลงท้ายด้วยการตำหนิคุณอมรัตน์ ว่าในฐานะที่เป็นนักการเมือง อย่างยิ่งคือสังกัดพรรคก้าวไกล ซึ่งออกตัวแรงมาก กอไก่ล้านตัว ในเรื่องเสรีภาพของการแสดงความคิดเห็น ต้องถือว่าเธอทำเกินเลยไป ซึ่งในท้ายที่สุด เธอเองก็ออกมายอมรับความผิดพลาดในเรื่องนี้
บทเรียนครั้งนี้ นอกจากจะย้ำเตือนให้เห็นว่า “นักการเมือง” ก็เป็นแค่ “คนธรรมดา” ไม่ใช่ “เทวดา” ด่าได้ และควรด่า แต่ก็คงต้องขอร้องกันให้ด่าอย่างสร้างสรรค์ ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริง มีสาระและเป็นประโยชน์กับสังคม ไม่ใช่นึกอยากจะจิกหัวด่าบ้าๆ บอๆ อะไรก็ได้ ข้ออ้างประเภท “ไม่ได้เอ่ยชื่อ” หรือ “ไม่ได้พูดถึงสักหน่อย อย่าร้อนตัวไปเอง” มันอาจเอาไว้แก้ตัวเพื่อให้พอรอดคดีไปได้ แต่ไม่สามารถทำให้ใครเชื่อได้เลยสักคนเดียว ตัวเองก็ย่อมรู้ดีอยู่แก่ใจ ถือซะว่าใจเขาใจเรานะครับ... เบาได้เบา
ศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ
ผู้อำนวยการ สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
อีเมล [email protected]
ข่าว
23 พ.ย. 2567 17:35 46 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:48 55 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:26 67 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:01 71 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:29 83 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:07 71 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:01 95 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 14:58 65 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:36 91 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:28 110 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:26 125 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:23 123 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:20 112 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:04 101 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:01 114 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 10:49 131 views