วันพุธที่ 2 เมษายน 2568
6 มี.ค. 2568 10:36 | 1749 view
@pracha
จีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตประจำปีไว้ที่ประมาณ 5% พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำให้อุปสงค์ในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลัก เนื่องจากสงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อการส่งออก
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 5 มีนาคม 2568 กล่าวว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนจัดการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ซึ่งเป็นการประชุมทางการเมืองครั้งที่สองในสัปดาห์นี้ โดยมีบุคคลระดับสูงและผู้แทนหลายพันคนมารวมตัวกันที่มหาศาลาประชาชนอันโอ่อ่าในกรุงปักกิ่ง และประเด็นหลักของการประชุมคือการหาแนวทางรับมือกับสหรัฐอเมริกาทึ่ใช้กำแพงภาษีในการกีดกัน
แม้สงครามการค้าที่ทวีความรุนแรงขึ้นกับสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออก แต่รัฐบาลปักกิ่งยังกำหนดเป้าหมายการเติบโตประจำปีไว้ที่ประมาณ 5% พร้อมให้คำมั่นว่าจะทำให้อุปสงค์ในประเทศเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักทดแทนการค้าต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลประกาศเพิ่มเงินทุนการคลังในระดับที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก ทำให้การขาดดุลงบประมาณแตะระดับ 4% ในปีนี้ เนื่องจากต้องต่อสู้กับปัญหาการจ้างงานของคนหนุ่มสาว, ความต้องการของผู้บริโภคที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และวิกฤตหนี้ที่ยืดเยื้อในภาคอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ ตัวเลขการเติบโตที่นายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียงประกาศในการประชุมประจำปีของพรรคคอมมิวนิสต์นั้นสอดคล้องกับผลสำรวจจากนักวิเคราะห์ของเอเอฟพี แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะบอกว่าตัวเลขดังกล่าวมีความทะเยอทะยานเกินไปเมื่อพิจารณาถึงขนาดของความท้าทายทางเศรษฐกิจของจีนก็ตาม
แผนดังกล่าวมุ่งสร้างงานใหม่ในเมืองต่างๆ ของจีนราว 12 ล้านตำแหน่ง ขณะที่รัฐบาลจะควบคุมให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2% ในปีนี้
รัฐบาลระบุในรายงานการบริหารว่าจะทำให้อุปสงค์ในประเทศเป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนการเติบโต โดยเสริมว่าประเทศควรดำเนินการอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาอุปสงค์ในประเทศที่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการบริโภคที่ยังน้อยเกินไป
"ในระดับนานาชาติ การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบศตวรรษกำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในอัตราที่รวดเร็ว โดยนโยบายฝ่ายเดียวและนโยบายคุ้มครองการค้ากำลังเพิ่มขึ้น ขณะที่รากฐานของการฟื้นตัวและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนภายในของจีนยังไม่แข็งแกร่งเพียงพอ" รายงานของรัฐบาลระบุ
และในความเคลื่อนไหวที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น นายกฯหลี่ เฉียงกล่าวว่าจีนจะเพิ่มการขาดดุลการคลังขึ้น 1% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ และนักวิเคราะห์กล่าวว่าจะทำให้รัฐบาลปักกิ่งมีอิสระมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว
นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์กล่าวว่าเป้าหมายการเติบโตของจีนนั้น "ยากแต่เป็นไปได้"
เขากล่าวว่าการบริโภคที่ต่ำเป็นปัญหาด้านความเชื่อมั่น และหากผู้คนมีความกังวลต่อการใช้จ่ายของตนเอง โดยเฉพาะสินค้าราคาแพง ก็ยิ่งยากที่จะแก้ไข
นักวิเคราะห์อีกรายกล่าวว่านโยบายของรัฐบาลปักกิ่งยังไม่ใหญ่พอที่จะกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้อย่างมีนัยสำคัญ
"เราจำเป็นต้องเห็นการฟื้นตัวของการจ้างงาน, รายได้ และตลาดอสังหาริมทรัพย์ในวงกว้างอย่างแท้จริง ก่อนที่เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการบริโภคและแนวโน้มการขายปลีก" นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก The Economist Intelligence Unit กล่าวกับเอเอฟพี
ตลาดหุ้นหลักของเอเชียปรับตัวขึ้นเล็กน้อยในวันพุธ โดยพลิกกลับจากการขาดทุนหนึ่งวันหลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ กำหนดภาษีนำเข้าสินค้าจีนแบบเหมารวมเพิ่มเติมตามมาตรการเดียวกันเมื่อเดือนที่แล้ว
คาดว่าภาษีของสหรัฐฯ จะกระทบต่อมูลค่าการค้ารวมหลายแสนล้านดอลลาร์ระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก
ทั้งนี้ การส่งออกของจีนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว แต่ความรู้สึกถูกบดบังด้วยสงครามการค้าที่ขยายตัวมากขึ้นกับสหรัฐฯ
รัฐบาลปักกิ่งประกาศมาตรการของตนเองเพื่อตอบโต้การขึ้นภาษีล่าสุดของรัฐบาลวอชิงตัน และให้คำมั่นว่าจะต่อสู้ในสงครามการค้าจนถึงที่สุด
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้จีนจัดเก็บภาษีสูงถึง 15% กับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของสหรัฐฯ หลากหลายชนิด รวมถึงถั่วเหลือง, เนื้อหมู และข้าวสาลี เริ่มตั้งแต่ต้นสัปดาห์หน้า
นักเศรษฐศาสตร์ประจำจีนแผ่นดินใหญ่ของสถาบันการเงินต่างชาติให้ความเห็นว่า มาตรการตอบโต้ของรัฐบาลปักกิ่งถือเป็น "การตอบสนองที่ค่อนข้างแผ่วเบา" เมื่อเทียบกับมาตรการขึ้นภาษีรอบด้านของทรัมป์
"การตอบโต้สามารถรุนแรงกว่านี้ได้มาก และยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเท่าใด ความเสี่ยงในการตอบโต้ที่รุนแรงขึ้นก็เพิ่มขึ้นเท่านั้น" เขากล่าว
นักวิเคราะห์ยังกล่าวอีกว่า จีนอาจประกาศแผนเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในสัปดาห์นี้ โดยเพิ่มมาตรการสนับสนุนเชิงรุกที่ประกาศไปเมื่อปลายปีที่แล้ว
จีนยังเปิดเผยอีกว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศขึ้น 7.2% ในปี 2025 เนื่องจากรัฐบาลกำลังเร่งปรับปรุงกองกำลังติดอาวุธเพื่อรับมือกับความตึงเครียดในภูมิภาคและการแข่งขันเชิงกลยุทธ์กับสหรัฐอเมริกา
นักวิเคราะห์กล่าวว่าความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างปักกิ่งและวอชิงตันมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ โดยสถานะของไต้หวันที่ปกครองตนเองซึ่งจีนอ้างสิทธิ์ในฐานะส่วนหนึ่งของดินแดนอธิปไตยของตน จะเป็นแหล่งที่มาของความขัดแย้งหลัก
คาดว่าการใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศจะนำไปเป็นทุนสำหรับการส่งเครื่องบินทหารไปรอบๆ เกาะไต้หวันให้บ่อยครั้งขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกดดันเจ้าหน้าที่ในเกาะประชาธิปไตยแห่งนี้.
ข่าว
1 เม.ย. 2568 16:20 187 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 16:16 151 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 16:13 156 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 14:32 178 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 14:23 235 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 14:23 146 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 14:05 149 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 13:51 282 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 13:34 169 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 13:31 158 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 13:18 118 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 13:17 152 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 12:54 175 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 12:34 179 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 12:19 227 views
ข่าว
1 เม.ย. 2568 12:01 182 views