วันที่ 24 พฤศจิกายน 2567
30 ก.ย. 2567 16:52 | 3102 view
@pracha
"สภาสูง"ฉลุยแก้"ร่างพ.ร.บ.ประชามติ" คืนชีพใช้"เสียงข้างมาก 2 ชั้น"ผ่านประชามติรธน. ด้าน"สว.สิทธิกร"คาใจเร่งให้ทันเลือกตั้ง"นายก อบจ."หวั่นเข้าทางนักการเมืองครอบงำ ขณะที่ด้าน"นิกร"ยังหวังทำประชามติแก้รธน.รอบแรกทันก.พ.68 กางปฏิทินเร่งงานกมธ.2สภาฯ
เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม เข้าสู่การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการรออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ. .... ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ที่มี พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นประธาน กมธ.พิจารณาเสร็จแล้ว
โดยรายงานของ กมธ.พบการแก้ไขเนื้อหาเพียงมาตราเดียว คือ มาตรา 7 แก้ไขมาตรา 13 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การผ่านประชามติ ที่ให้เติมความวรรคสอง กำหนดให้ การออกเสียงที่จะถือว่ามีข้อยุติในการจัดทำประชามติ มาตรา 9 (1) หรือ (2) เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงในเรื่องที่จัดทำประชามตินั้น
ทั้งนี้ ในการประชุม พบ กมธ.เสียงข้างน้อย ได้สงวนความเห็น และอภิปรายขอให้กลับไปใช้เนื้อหาเดิมที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบ โดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.ในฐานะ กมธ.เสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การกลับมติของ กมธ.ในวันที่ 25 ก.ย.ทั้งที่ก่อนหน้านั้น กมธ.ได้ลงมติในทิศททางเดียวกัน และปฏิเสธคำแปรญัตติของ นายพิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ สว.ที่เสนอให้ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นในเรื่องรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การกลับลำดังกล่าว เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะมีใบสั่ง เพราะเมื่อวันที่ 24 ก.ย.นั้น มีหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งนี้การ ลงมติของ กมธ.ด้วย 17 เสียง ต่อ 1 เสียง นั้นไม่งาม
"ขอ สว.อย่าความจำสั้น เพราะการลงมติวาระแรก มีผู้ลงมติรับหลักการ 179 เสียง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญที่มีปัญหา ทำให้การเมืองไร้เสถียรภาพ ปัญหาเศรษฐกิจ ดังนั้น ขอให้กฎหมายประชามติเป็นก้อนหินก้อนแรก เพื่อสร้างถนนประชาธิปไตย" น.ส.นันทนา กล่าว
ขณะที่ นายนิกร จำนง กมธ.เสียงข้างน้อยในสัดส่วนของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก เนื่องจากการศึกษาของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่มี นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.กลาโหม เป็นประธาน และตนทำงานในคณะดังกล่าวพบว่าเกณฑ์ออกเสียงประชามติด้วยเสียงข้างมาก 2 ชั้น เป็นอุปสรรคที่ทำให้ประชามติผ่านยาก จึงเสนอให้แก้ไขให้ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวซึ่งเป็นฉบับที่เสนอให้วุฒิสภาพิจารณา
นายนิกร อภิปรายด้วยว่าหาก สว.เห็นด้วยกับ กมธ.เสียงข้างมาก ต้องกลับไปสภาฯ ทั้งนี้ เชื่อว่าสภาฯ จะยืนยันตามร่างของตนเองเพราะได้ลงมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ดังนั้น สิ่งที่ตามมาคือ ตั้ง กมธ.ร่วมกันฝ่ายละ 10 คน หากตกลงไม่ได้ไม่มีข้อสรุป และส่งไปยังแต่ละสภาพิจารณา หากสภาใดสภาหนึ่งไม่เห็นชอบ ต้องถูกแขวนไว้ 180 วัน จากนั้น สภาฯ ถึงจะลงมติ ซึ่งจะใช้ร่างของสภาฯ ไม่ผ่านวุฒิสภา
"สิ่งที่จะกระทบคือ รัฐธรรมนูญของประชาชนจะเกิดไม่ทันในรัฐสภาชุดนี้แน่ เพราะมีเวลาไม่ถึง 3 ปี แล้วใครจะรับผิดชอบต่อกรณีที่เกิดขึ้น ที่จะไม่มีรัฐธรรมนูญของประชาชน ตามที่คณะกรรมการฯ เล็งกันไว้ คือ ทำประชามติพร้อมกับการเลือกตั้งท้องถิ่น วันที่ 2 ก.พ.68 หากไม่ทันจะเพิ่มค่าใช้จ่าย ผมตั้งความหวังไว้ ผมอยากให้ สว.เห็นดวยกับร่างของสภา ไม่เช่นนั้นจะสุ่มเสี่ยงถูกโทษว่ารั้งรัฐธรรมนูของประชาชนไว้" นายนิกร กล่าว
นายนิกร อภิปรายด้วยว่า ตนขอเสนอวันและเวลา รวมถึงโอกาส คือ แม้ สว.จะโหวตตาม กมธ.ที่แก้ไข ส่งไปสภาฯ 9 ต.ค.พิจารณาตั้ง กมธ.ร่วมกัน จากนั้นมีเวลา 16 - 23 ต.ค.กมธ.พิจารณาหาทางออก ต่อมาวันที่ 24 ต.ค.กมธ.ร่วมกันส่งให้สองสภา 28 ต.ค.วุฒิสภาเห็นชอบตามร่างของ กมธ.ร่วมกัน จากนั้น 30 ต.ค.ให้ความเห็นชอบ และ 31 ต.ค.สามารถทำตามกระบวนการของการประกาศใช้กฎหมาย และสามารถทำประชามติได้ทันวันที่ 2 ก.พ.68 แต่หากทำไม่ทันเวลาจะไหลไป ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของพรรคใด แต่เป็นเรื่องว่าจะมีรัฐธรมนูญของประชาชนในยุคสมัยนี้ได้หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนของการอภิปรายของ สว.ต่อที่ประชุมในมาตราดังกล่าว พบว่ามีทั้งผู้ที่สนับสนุน และคัดค้านกับการแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมาก
โดย นายพิสิษฐ์ อภิปรายว่าตนเสนอคำแปรญัตติให้ กมธ.พิจารณาแก้ไข เพราะไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขให้มีเสียงข้างมากเพียงชั้นเดียว ทั้งนี้ ที่ระบุว่าไม่แก้กลัวว่าประชามติไม่ผ่านนั้น หากเปรียบเทียบกับการทำประชามติรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 และ 2560 พบว่าผู้ออกมาใช้สิทธิและคะแนนเสียงต่างผ่านเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นทั้งสิ้น ดังนั้นอย่ามาอ้างว่าหลักการดังกล่าวจะทำให้การทำประชามติเป็นไปได้ยาก ส่วนที่ระบุเหตุผลว่ากลัวไม่ทันกับการเลือกตั้ง อบจ. ก.พ.68 ตนมองว่าสามารถใช้ พ.ร.บ.ประชามติฉบับปัจจุบันได้
"การแก้รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีแต่เรื่องแก้จริยธรรมนักการเมือง แต่ไม่มีประเด็นเรื่องแก้เพื่อประชาชนทั้งนี้ที่บอกว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาเคยมีประชาชนเดินมาบอกหรือไม่ว่ารัฐธรรมนูญมีปัญหาตรงไหน ทั้งนี้ ตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญนี้มีปัญหากับพรรคและนักการเมืองมากกว่า" นายพิสิษฐ์ อภิปราย
ขณะที่ นายสิทธิกร ธงยศ สว.อภิปรายว่า ตนเห็นว่าการแก้ไขเรื่องเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้นของ กมธ.นั้นชอบธรรมและถูกต้อง และขอชื่อชม เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งที่ตามมาจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ การแก้ไขเกณฑ์ข้างมาก 2 ชั้น ไม่เป็นปัญหา หากได้ 3 ชั้นยิ่งดี อย่างไรก็ดีความ พยายามให้การออกเสียงประชามติเป็นวันเดียวกับวันเลือกตั้งนายก อบจ.นั้น เป็นเรื่องไม่ชอบมาพากล เพราะขณะนี้มีพรรคการเมืองใหญ่เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.แล้ว 70-80% ดังนั้น หาก สว.ผ่านให้ทำประชามติวันดังกล่าว จะกลายเป็นเครื่องมือของนักการเมืองทันที
"คนแก่ที่จะเลือกต้องปรึกษาหัวคะแนน ใบแรก เลือกตั้งนายก อบจ. ใบสองคือ แก้เรื่องอะไรต้องถามหัวคะแนน เป็นเรื่องที่แอบแฝง ทั้งนี้ไม่ต้องห่วงค่าใช้จ่าย หรือเป็นภาระสังคม อันอื่นเสียได้ ตอนนั้นจำนำข้าวเสียหาย 7 แสนล้านบาท เป็นเรื่องเล็กน้อยกับการทำประชามติกฎหมายแม่บท ดังนั้น ต้องทำให้ปลอดจากการครอบงำของพรรคการเมืองขอให้เป็นวันใหม่ เป็นวันขึ้นปีใหม่ หรือ วันสงกรานต์ เพราะประชาชนกลับบ้านมากกว่าเลือกนายก อบจ. อย่าให้พรรคการเมืองครอบงำ มีประโยชน์ทับซ้อน" นายสิทธิกร อภิปราย
นายสิทธิกร อภิปรายต่อว่า ในการถามคำถามประชามติ หาก สว.ผ่านไป ไม่รู้เขาจะตั้งคำถามอะไร หลีกไม่พ้นกับการจัดตั้ง มีระบบอุปถัมภ์ที่ไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะทำให้ได้รัฐธรรมนูญที่ไม่มีคุณภาพ เป็นเครื่องมือของนักการเมือง ตนเห็นควรว่า สว.ต้องตระหนักในประเด็นดังกล่าว เพราะเป็นผลประโยชน์ทางซ้อน ซึ่งเราหลงเกมนักการเมือง เขาจะกินหัวเรา
ทั้งนี้ หลังจากที่ที่ประชุมอภิปรายแล้วเสร็จ ได้ลงมติ ผลปรากฏว่า เสียงข้างมาก เห็นชอบด้วยกับการแก้ไขของ กมธ.เสียงข้างมาก 164 เสียง ไม่เห็นด้วย 21 เสียง และงดออกเสียง 9 เสียง
จากนั้นที่ประชุมได้พิจารณาเรียงลำดับมาตราที่เหลือและสรุปทั้งฉบับ ก่อนลงมติในวาระสามว่าจะเห็นชอบด้วยทั้งฉบับหรือไม่ ผลปรากฏว่า เสียงข้างมาก 167 เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม ต่อ 19 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง และเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ จากนั้นจะส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ข่าว
23 พ.ย. 2567 17:35 184 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:48 140 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:26 152 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:01 168 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:29 171 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:07 146 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:01 188 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 14:58 180 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:36 163 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:28 174 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:26 195 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:23 187 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:20 184 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:04 164 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:01 191 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 10:49 205 views