วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567
6 ส.ค. 2567 11:14 | 534 view
@pracha
เศรษฐา แจงที่ประชุมส.ว. ยันงบเงินดิจิทัล ทำตามกฎหมาย เน้นประสิทธิภาพสูงสุด
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 6 สิงหาคม ที่รัฐสภา ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา มีนายมงคล สุรัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 1.22 แสนล้านบาท ที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเสร็จแล้ว โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมประชุม
โดยนายเศรษฐา แถลงเหตุผลว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการส่งเสริมให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการดำรงชีพ สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชนและภาคธุรกิจควบคู่กับการรักษาระดับการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รวมถึงความสามารถในการแข่งขันของประเทศผ่านโครงการเติมเงินหนึ่งหมื่นบาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต อันเป็นกรณีที่ต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน โดยไม่สามารถรองบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ได้ จึงต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 1.22 แสนล้านบาท โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สำหรับประมาณการเงินที่พึงได้มาสำหรับจ่ายตามร่างพ.ร.บ.รายจ่ายเพิ่มเติมงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีดังนี้ คือ 1.ภาษีและรายได้อื่น โดยเป็นแหล่งเงินจากการจัดเก็บรายได้ที่เดิมไม่ได้กำหนดไว้ในประมาณการ จำนวน 1 หมื่นล้านบาท, 2.เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 1.12 แสนล้านบาท
นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า โดยภาวะเศรษฐกิจในปี 2567 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0-3.0 มีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง การขยายตัวของอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการอุปโภค บริโภค การลงทุน และการกลับมาขยายตัวอย่างช้าๆ ของการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากภาระหนี้ ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคการเกษตร ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจการเงินโลกที่อยู่ในเกณฑ์สูง และมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ในช่วงร้อยละ 0.1-1.1 และดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลร้อยละ 1.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า นโยบายการคลังและความสัมพันธ์ระหว่างรายรับและงบประมาณรายจ่ายที่ขอตั้ง ภายใต้สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจให้มีความต่อเนื่อง โดยประมาณการจัดเก็บรายได้จากส่วนราชการอื่นรวมทั้งสิ้น 1.22 แสนล้านบาท เท่ากับวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล จึงมีความสำคัญและจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างเชื่องช้า ให้เติบโตได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยเม็ดเงินจำนวนมากจะไหลจากภาครัฐไปสู่ภาคเอกชน ก่อให้เกิดการสั่งซื้อสินค้า การบริการ และหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ฐานะการคลัง มีหนี้สาธารณะคงค้าง ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวน 11.5 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 63.78 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ปัจจุบันฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2567 มีจำนวน 3.9 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลจะบริหารเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และบริหารรายรับและรายจ่ายของรัฐให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.5 ต่อปี ในการประชุมเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีเหตุผลว่าเป็นอัตราที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับตัวดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง และการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2 ของปี 2567 รวมถึงแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า สำหรับงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 3.48 ล้านล้านบาท จะทำให้ปีงบประมาณ พ.ศ.2567 มีงบประมาณรายจ่ายรวม 3.60 ล้านล้านบาท แม้ว่างบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เมื่อรวมกับกรอบวงเงินเดิมตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลได้จัดสรรรายจ่ายลงทุนไว้ในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 จำนวน 9.76 หมื่นล้านบาท เมื่อรวมกับรายจ่ายลงทุนตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จะทำให้มีรายจ่ายลงทุน จำนวน 8.07 แสนล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากรายจ่ายลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ร้อยละ 17.1 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22.4 ของวงเงินงบประมาณรวมการบริหารงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดนี้ จะเป็นการใช้จ่ายเพื่อดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล และกระตุ้นเศรษฐกิจ
โดยรัฐบาลจะดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ ใช้จ่ายเงินภาษีของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด กระตุ้นเศรษฐกิจให้เม็ดเงินไหลไปสู่ประชาชนและภาคธุรกิจ สร้างการเจริญเติบโตให้กับประเทศพัฒนาศักยภาพอย่างยั่งยืนและเป็นไปตามกฎหมาย
โดยหลังจากที่แถลงเหตุผลเสร็จ นายกรัฐมนตรีได้เดินทางกลับทันทีเพื่อไปเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล
ข่าว
23 พ.ย. 2567 17:35 75 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:48 84 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:26 97 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:01 103 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:29 114 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:07 96 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:01 125 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 14:58 115 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:36 117 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:28 136 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:26 151 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:23 147 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:20 138 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:04 125 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:01 141 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 10:49 158 views