วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567
5 ต.ค. 2566 12:49 | 7314 view
@varin
และแล้ว... เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกล ก็ได้ตัดสินใจอีกหนึ่งครั้งสำคัญ ด้วยการออกแถลงการณ์ให้ คุณหมออ๋อง ปดิพัทธ์ สันติภาดา พ้นจากสมาชิกภาพ แปลไทยเป็นไทยได้ว่า พรรคก้าวไกล โดยที่ประชุมร่วมระหว่าง คณะกรรมการบริหารพรรค กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ขับให้คุณหมออ๋อง พ้นจากการเป็นสมาชิกของพรรค เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 อย่างน้อย 2 มาตรา
คือ 1 มาตรา 106 เรื่อง “ผู้นำฝ่ายค้าน” ที่จะต้องมาจาก หัวหน้าพรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากที่สุดในสภาล่าง ซึ่งไม่มีสมาชิกของพรรคไปดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรี และประธานหรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร
ปัญหาในกรณีนี้ก็มีอยู่ว่า แม้พรรคก้าวไกล จะมีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในฝากของฝ่ายที่ไม่ใช่รัฐบาล 11 พรรคปัจจุบัน แต่การต่อรองและโหวตเลือกประธานกับรองประธานสภาล่างนั้น มันเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงที่พรรคก้าวไกล ยังถือธงเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรคอยู่
ผลของความไม่ลงตัวอันเนื่องมาจากสูตร 14+1 ที่คณะเจรจาพรรคเพื่อไทยเสนอว่า ในเมื่อพรรคก้าวไกลจะได้ 14 เก้าอี้รัฐมนตรี + นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยก็ควรจะได้ 14 เก้าอี้รัฐมนตรี + ประธานสภา ด้วย
นำมาสู่การโดนแกงครั้งที่ 1 ยกเก้าอี้ประธานสภาให้คนกลางเหลือเกินอย่าง คุณวันมูหะมัดนอร์ มะทา ศิษย์เก่าพรรคเพื่อไทยเอง และแบ่งเก้าอี้รองประธานกัน ให้ คุณหมออ๋อง จากพรรคก้าวไกล เป็นรองประธาน คนที่ 1 และ คุณพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน จากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธาน คนที่ 2
และเมื่อพรรคก้าวไกล โดนแกงครั้งที่ 2 ถูกพรรคเพื่อไทย ถีบให้ต้องมาเป็นฝ่ายค้าน แม้จะมีจำนวน ส.ส. มากที่สุดในฝากนี้ แต่ก็ดันมี คุณหมออ๋อง นั่งเป็นรองประธานสภาอยู่ ทำให้เกิดอาการ “กลับไม่ได้ไปไม่ถึง” เพราะในใจนั้น “อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน”
ทันทีที่ คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง และได้มีการเลือกให้ คุณชัยธวัช ตุลาธน ขึ้นมาทำหน้าที่หัวหน้าพรรคก้าวไกล แทน ก็เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจน ว่าพรรคก้าวไกล กำลังเดินหน้าสู่ตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน
คำถามที่เกิดขึ้นทันทีก็คือ แล้วจะจัดการอย่างไรกับ คุณหมออ๋อง ที่ก็ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรอยู่ และแสดงทีท่าว่าจะไม่ยอมลุกออกจากเก้าอี้รองประธานหมูกระทะ นี้ซะด้วย หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ดักคอตรงกัน ว่าในท้ายที่สุด พรรคก้าวไกล ก็คงต้องเล่นมุกขับ คุณหมออ๋อง ออกจากพรรค เพื่อหลบเลี่ยงให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย
ซึ่งก็คือ มาตรา 101 เรื่อง “การสิ้นสุดสมาชิกภาพของ ส.ส.” ที่ระบุไว้ใน (8) ว่าหาก ส.ส. ลาออกจากพรรคการเมืองต้นสังกัด ไม่ใช่แค่สถานะการเป็นสมาชิกของพรรคเท่านั้นที่จะสิ้นสุดลง แต่หมายถึงสถานะการเป็น ส.ส. ก็ต้องสิ้นสุดลงด้วย
เท่าแต่หากเป็นการขับออกตามมติของพรรค ด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของที่ประชุมร่วม ระหว่างกรรมการบริหารพรรค กับ ส.ส. ของพรรค ตาม (9) ส.ส. คนนั้นก็จะมีโอกาสไปหาพรรคสังกัดใหม่ได้ ภายใน 30 วัน เพื่อให้ไม่ต้องพ้นจากการเป็น ส.ส.
ก่อนหน้าการออกแถลงการณ์ เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา ก็ต้องยอมรับว่ามีทั้งเสียงสนับสนุน ว่าในเมื่อรัฐธรรมนูญมันเป็นแบบนี้ และพรรคการเมืองอื่นๆ โดยเฉพาะเพื่อไทย ก็เล่นเกมการเมืองกันแบบนี้ อาศัยช่องโหว่อันเป็นปัญหาของกฎหมาย ยึดเอาโอกาสในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไป ทั้งๆ ที่พรรคก้าวไกล ได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับที่ 1 แต่ คุณพิธา กลับไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
เมื่อด้านมา เหลี่ยมมา ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไรที่พรรคก้าวไกล จะด้านกลับ เหลี่ยมกลับ ใช้ช่องโหว่ของกฎหมายฉบับเดียวกันนี้แหละ ขับ คุณหมออ๋อง ออกจากพรรคก้าวไกล ให้ไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นแทน เพื่อที่จะได้ทั้งตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้าน และรักษาตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎร ไว้
เมื่อต้นปี 2565 พรรคพลังประชารัฐ ก็เคยแก้ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรค ด้วยการมีมติในลักษณะเดียวกันนี้ ขับ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า และพวกซึ่งเป็น ส.ส. อีก 20 คน ออกจากพรรคไป ก่อนที่จะยกทีมกลับเข้ามารวมกันอีกครั้ง เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ก่อนการเลือกตั้ง
ทีนี้ก็เลยกลายเป็น ด้านเหมือนกัน !
ก็มีอีกหลายคน ที่ออกมาคัดค้านด้วยความหวังดี ว่าการจะใช้แนวทางดังกล่าว เพื่อรักษาไว้ทั้ง 2 ตำแหน่ง น่าที่จะ “ได้ไม่คุ้มเสีย” เหตุผลหลักๆ ก็เพราะพรรคก้าวไกล ออกตัวไว้แรง ว่ามีมาตรฐานทางการเมืองสูงกว่าพรรคอื่นๆ ไม่เล่นการเมืองแบบเก่า เป็นการเมืองแบบใหม่ สร้างสรรค์ และตรงไปตรงมา
การจะมาอ้างว่าเป็นความจำเป็น เพราะรัฐธรรมนูญมันแย่ มันกำหนดไว้แบบนี้ จึงไม่มีทางเลือกอื่น จึงจำเป็นต้องทำแบบนี้ จึงอาจเป็นการลดเกรดของตัวเองลง ให้ก็ไม่ได้แตกต่างจากสิ่งที่พรรคการเมืองอื่นๆ ที่พรรคก้าวไกล เคยไปชี้หน้าด่าเขาไว้ ทำๆ กัน และจะกลายไปเป็นปัญหาเรื่อง “ความไม่สง่างาม” ที่ไม่สามารถจะย้อนกลับมาแก้ไขได้อีกในอนาคต
ยังไม่รวมฝ่ายตรงข้าม ที่ก็ออกมาดักคอกัน ว่าพรรคก้าวไกล เอาจริงๆ ก็ไม่ได้วิเศษวิโส แตกต่างไปจากพรรคการเมืองอื่นๆ หรอก ก็คงเล่นมุกทำนองนี้นี่แหละ เพื่อที่จะเก็บไว้ให้ได้ทั้ง 2 ตำแหน่ง
เมื่อ พรรคก้าวไกล ตัดสินใจออกมาอย่างนี้ แม้จะยกข้ออ้างต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็น เพื่อเดินไปสู่การเป็น “ฝ่ายค้านโดยสมบูรณ์” ความตั้งใจและประโยชน์ที่ คุณหมออ๋อง จะยังคงทำหน้าที่นี้อยู่ต่อไป หรือแม้แต่เงื่อนไขของกฎหมายที่เป็นข้อจำกัด จึงจำเป็นต้อง “แยกกันเดิน เปลี่ยนประเทศด้วยกัน” ถึงนาทีนี้ ก็กลายเป็นว่า ฟังไม่ค่อยขึ้นเสียแล้ว
ทีนี้ก็ลำบาก ก็ว้าวุ่นเลย... จากที่ “ด้านมา - ด้านกลับ” ก็เลยกลายเป็น “ด้านเหมือนกัน” ไปเสีย
ปัญหาคือ “ติดกับดักตัวเอง”
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2565 ที่พรรคพลังประชารัฐ มีมติขับกลุ่มของผู้กองธรรมนัส ออกจากพรรค รวมถึงเมื่อต้นปี 2566 ที่คนกลุ่มนี้ก็เดินหน้าตาเฉย กลับเข้าพรรคได้อีก สังคมไม่ได้รู้สึกรู้สา หรือตื่นเต้นอะไรมากมายนัก เพราะเอาเข้าจริง ก็ไม่ได้คาดหวังมาตรฐาน หรือความตรงไปตรงมา เป็นพิเศษจากคนกลุ่มนี้อยู่แล้ว ถ้ากฎหมายระบุไว้ว่าทำได้ เขาก็คงทำกัน เพราะขนาดผู้กองธรรมนัส เคยติดคุกในออสเตรเลีย ยังไม่ส่งผลต่อคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีในประเทศไทยเลย ก็กฎหมายมันระบุไว้แบบนี้
ปัญหาที่พรรคก้าวไกล เผชิญอยู่ จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย หรือมีมาตรฐานต่ำกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ แต่เป็นการกระทำที่ต่ำกว่า “มาตรฐานของตนเอง” หรือ “ความคาดหวังของสังคม” กลายเป็นอาการ “ติดกับดักตัวเอง”
อันที่จริง อาการทำนองนี้ แสดงให้เห็นถึงผลกระทบข้างเคียงมาอย่างต่อเนื่อง ก็ต้องยอมรับอย่างตรงไปตรงมา ว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้พรรคก้าวไกล ไม่สามารถรวบรวมคะแนนเสียงสนับสนุน ได้เพียงพอในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ก็เนื่องมาจากมาตรฐานและเงื่อนไขที่ตัวเองสร้างขึ้น
ทันทีที่ แฮชแท็ก “#มีกรณ์ไม่มีกู” กลายเป็นเทรนดิงอันดับ 1 บนทวิตเตอร์ และพรรคก้าวไกล ตัดสินใจที่จะออกมาประกาศขอโทษแฟนคลับ และยืนยันว่าจะไม่ร่วมรัฐบาลกับพรรคชาติพัฒนากล้า เหตุเพราะพรรคก้าวไกล เคยประกาศไว้ว่า “จะไม่จับมือจัดตั้งรัฐบาลกับทุกพรรคการเมืองที่สืบทอดอำนาจเผด็จการ” แต่เสียง ส.ส. เท่าที่รวบรวมได้มีเพียง 311 เสียง ก็เป็นสัญญาณปิดประตูตายการเป็นนายกรัฐมนตรีของคุณพิธา และการเป็นรัฐบาลของพรรคก้าวไกล ได้เลย
การกระทำอันเป็นการล่าแม่มด ของ คุณเจี๊ยบ อมรัตน์ โชคปมิตรกุล กรณี คุณปีใหม่ ศิริกุล ที่จบลงด้วยการออกมายอมรับผิด และลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคก้าวไกล
และล่าสุด การไล่ คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ในร้านอาหารที่ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งก็คาดกันจากจุดยืนทางการเมืองของผู้ที่ออกมาไล่ ว่าน่าจะเป็นด้อมส้ม แม้ว่า คุณรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคก้าวไกล จะออกมาปฏิเสธ ว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรค และนี่เป็นราคาที่นักการเมืองที่ไม่เคารพเสียงประชาชนต้องจ่ายก็ตาม
สำหรับเหตุการณ์หลังนี้ ต้องยอมรับและชื่นชมว่า คุณพิธา ประธานคณะที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล ออกมาแสดงท่าทีและความเห็นได้ดีกว่าลูกพรรคมากๆ ว่า “ความมืดไล่ความมืดไม่ได้ ก็ต้องเป็นความสว่าง”
นั่นแหละครับ “ด้านมา - ด้านกลับ” ไม่ได้ มันจะกลายเป็น “ด้านเหมือนกัน” เท่านั้นเอง...
อีทีนี้ก็อาจจะพากันวุ่นวายขายปลาช่อน ต่อเนื่องกันไปอีก นักร้องก็คงจะพากันไปยื่นให้หน่วยงานต่างๆ มาตรวจสอบ ว่าการลงมติขับ คุณหมออ๋อง ออกจากพรรคก้าวไกล นั้น ชอบด้วยข้อบังคับของพรรค และเป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ ขัดจริยธรรมหรือเปล่า ซึ่งผู้ที่ร่วมลงมติดังกล่าว ก็จะครอบคลุมทั้งกรรมการบริหารพรรค และ ส.ส. ทุกคนของพรรค
โควต้าประธานกรรมาธิการ ที่เคยตกลงแบ่งกันบนฐานของจำนวน ส.ส. เดิม จะถูกรื้อมาทบทวนและตัดลดลงไป 1 คณะหรือไม่ การอภิปราย ผู้กองธรรมนัส ในอนาคตจะโดนแซวกลับหรือเปล่า กระทั่ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า คุณหมออ๋อง จะตัดสินใจกลับเข้าพรรคก้าวไกล หรือไม่ แล้วจะอธิบายกับพี่น้องประชาชนอย่างไร...
ศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ
ผู้อำนวยการ สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
อีเมล [email protected]
ข่าว
23 พ.ย. 2567 17:35 44 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:48 52 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:26 65 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:01 69 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:29 80 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:07 69 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:01 92 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 14:58 63 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:36 90 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:28 109 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:26 124 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:23 122 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:20 110 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:04 99 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:01 112 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 10:49 129 views