วันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2567
27 ก.ย. 2566 09:58 | 31583 view
@varin
วาทกรรม “คนดี” ในการเมืองไทย
กว่าครึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะ 10 ปีหลังมานี้ วาทกรรมว่าด้วย “คนดี” ขยับขึ้นมาเป็นหนึ่งในประเด็นถกเถียงหลักของสังคมไทย ทั้งที่พูดอย่างจริงใจเพราะอยากให้เกิดมีขึ้น และประชดประชันเพราะมองว่าเป็นแค่คำพูดสวยหรู รวมถึงเป็นเครื่องมือในการยกให้ตนดูเป็นคนดี และโยนให้คนอื่นกลายเป็นคนไม่ดีไปเสียได้
ปกหน้าของนิตยสารฟ้าเดียวกัน ฉบับปลายปี 2557 ได้อัญเชิญพระบรมราโชวาทองค์สำคัญ ซึ่งถูกกล่าวถึงและผลิตซ้ำมากที่สุดองค์หนึ่ง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตรัสไว้ตั้งแต่ปี 2512 มาลงพิมพ์ไว้เป็นธีมของฉบับดังกล่าว ความว่า
“ในบ้านเมืองนั้นมีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงไม่ใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้”
การสัมมนาสาธารณะ หัวข้อ “การเมืองคนดี”: ความคิด ปฏิบัติการ และอัตลักษณ์ทางการเมือง ของผู้สนับสนุน “ขบวนการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย”” โดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อเดือนธันวาคม 2560 ตลอดจนหนังสือ เรื่อง “ให้คนดีปกครองบ้านเมือง: การเมืองวัฒนธรรมของขวาไทย” ของ รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ (ม.ธรรมศาสตร์) ซึ่งตีพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2565
เหล่านี้คือหลักฐานในเชิงประจักษ์ ของความพยายามโดยฝ่ายซ้าย เพื่อตั้งคำถามและตอบโต้กับ “วาทกรรมคนดี” ของฝ่ายขวาในสังคมการเมืองของไทย อย่างน้อยก็ตั้งแต่การเกิดขึ้นของ “คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (กปปส.) นำโดยลุงกำนัน คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ปัจจุบัน แปลงรูปเปลี่ยนร่างมาอยู่กันใน พรรครวมไทยสร้างชาติ
บนเวทีปราศัยที่ จ.นครราชสีมา เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คุณไตรรงค์ สุวรรณคีรี ประธานที่ปรึกษาพรรค รทสช. และอดีตแกนนำ กปปส. ก็ยังย้ำซ้ำๆ ทำนองเดียวกับเมื่อสิบปีก่อน อยู่เลยว่า “ร.9 ตรัสเอาไว้ว่า จงเลือกคนดีปกครองประเทศเท่านั้น ผมเองไม่เล่นแล้วการเมือง แต่ผมมาช่วยบิ๊กตู่ เพราะเห็นว่าเขาเป็นคนดี ผมดูแล้วหัวหน้าพรรคทั้งหลายเนี่ย ไม่มีใครดีเหนือกว่าบิ๊กตู่หรอก”
การชี้ให้เห็นสภาพปัญหาของ “วาทกรรมคนดี” โดย ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ (ม.ธรรมศาสตร์) ว่า “แกนนำและผู้ชุมนุม กปปส. มองว่า ศีลธรรมของกลุ่มตนมีสถานะอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญและกติกาในระบอบประชาธิปไตย เพราะศีลธรรมของคนดีเป็นคุณค่าตัดสินความดีชั่วที่ศักดิ์สิทธิ์มากกว่ากฎหมายที่รัฐแอบอ้างมาปกป้องตัวเอง”
หรือที่ ดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) กล่าวว่า “พอวาทกรรมคนดีมันแทรกเข้าไปในกฎหมาย พอจะตัดสินอะไร มันต้องไปกางก่อนว่าอยู่ในยูนิเวิร์สเดียวกับเราไหม ถ้าใช้กฎหมายก็เข้าไปคุ้มครองหรือโอบอุ้มคนดีเหล่านั้น มันก็ทำให้เกิดคำว่าเป็นคนดีจะทำอะไรก็ได้ เพราะความดีไม่ใช่การกระทำ แต่มันอยู่ที่ว่าคุณเชื่อถูกหรือเปล่า ถ้าคุณเชื่อถูก คุณอยากทำอะไรทำ”
นำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า ปัญหาอันเป็นหัวใจของ “วาทกรรมคนดี” ก็คือ มันไม่ใช่สิ่งสัมบูรณ์ แต่เป็นสิ่งสัมพัทธ์ หาความเอาแน่เอานอนไม่ได้ ไม่มีมาตรฐานในการปฏิบัติที่ชัดเจน คาดการณ์ล่วงหน้าตามสมควรไม่ได้ ร้ายที่สุดคือ ไม่สามารถนำไปสู่ความเท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าคุณเป็นใคร หรือคนของใคร ในท้ายที่สุด มันจึงนำไปสู่สภาวะที่เรียกว่า “กฎมีไว้ใช้กับคนที่ไม่ใช่พวก”
เมื่อ “กฎ” มีไว้ใช้กับคนที่ไม่ใช่พวก... ทีนี้ก็ลำบาก ก็ว้าวุ่นเลย
“สองมาตรฐาน” คือคำคุ้นหูของคนยุค “สงครามสีเสื้อ” ระหว่างพี่น้อง “เสื้อเหลือง” ในนาม กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ต่อเนื่องมาจนถึง การเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. กับพี่น้อง “เสื้อแดง” นำโดย แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่สู้กันมายาวนาน สร้างความสูญเสียให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง และรอยร้าวลึกระหว่างพี่น้องประชาชนชาวไทยด้วยกัน
เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา แกนนำพี่น้องเสื้อแดง บ่นออกมาดังๆ อยู่เสมอ ว่ากระบวนการยุติธรรมและองค์กรอิสระของประเทศแห่งนี้ มีมาตรฐานการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียมกัน กล่าวคือ หากเป็นเรื่องของพี่น้องเสื้อแดง ทำอะไรก็ผิด ก็ติดคุก กระบวนการพิจารณาคดีก็เป็นไปอย่างรวดเร็วเหลือเกิน
“ด่วน! ศาลฎีกาจำคุก “วีระกานต์” กับพวก นปช. บุกบ้าน “ป๋าเปรม” 2 ปี 8 เดือน ไม่รอลงอาญา “เต้น” ใส่เสื้อหงส์แดงเข้าเรือนจำ”, “ฎีกายืน คุก 4 ปี! "อริสมันต์-แกนนำแดง" ล้มประชุมอาเซียน”, “ศาลสั่งจำคุก แกนนำ นปช. 1 ปี ปรับ 12,000 บาท นำม็อบ ปิดสภาฯ สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์” และ “คุก 3-13 ปีไม่รอลงอาญา '4 นปช.' คดีเผาศาลากลางขอนแก่น” คือตัวอย่างของพาดหัวข่าวที่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาที่ผ่านมา
ส่วนเรื่องของพี่น้องเสื้อเหลือง ทำอะไรก็แทบจะไม่ผิด แทบจะไม่ติดคุก กระบวนการพิจารณาคดีก็เป็นไปอย่างล่าช้าเหลือเกิน ถึงขนาดที่ พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีต รมว.มหาดไทย ซึ่งทำหน้าที่รับมืออยู่ในขณะนั้น ยกให้เป็น “ม็อบมีเส้น” เลยทีเดียว
“ฎีกายกฟ้อง "จำลอง-สนธิ" กับพวกรวม 6 คน คดีแกนนำพันธมิตร ไล่รัฐบาลสมัคร”, “ยกฟ้อง 4 กปปส. ข้อหากบฏ ชี้ชุมนุมโดยสงบใต้กรอบรัฐธรรมนูญ” และ “เปิดใจทนายพันธมิตรฯ 60 คดีส่วนใหญ่ยกฟ้อง แนวพิพากษาชี้ชัดชุมนุมตามสิทธิตรวจสอบนักการเมือง” รายการหลังนี่ คุณสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความของกลุ่ม พธม. ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เองเลยว่า “กว่า 60 คดีที่ขึ้นสู่ศาล ส่วนใหญ่ยกฟ้อง แนวคำพิพากษาระบุชัด เป็นการชุมนุมโดยสงบ มุ่งให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิ ตรวจสอบนักการเมือง และให้มีความจงรักภักดี”
คลาสสิกที่สุด เห็นจะเป็นคดีการก่อการร้าย บุกยึดสนามบิน เมื่อปี 2551 ที่กระบวนการเป็นไปอย่างล่าช้าสุดๆ พนักงานอัยการใช้เวลาทำคดีถึง 4 ปี 5 เดือน เลื่อนฟ้องถึง 18 ครั้ง กว่าจะตัดสินคดีแพ่ง ก็ลากมาถึงปี 2560 แม้จะมีคำพิพากษาให้แกนนำต้องชดใช้ค่าเสียหาย แต่ก็อ้างกันว่าไม่มีเงินจะจ่าย ให้เป็นภาระของ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) ต้องไปฟ้องล้มละลายเอาแทน นี่ก็ใกล้จะครบ 15 ปีในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว ยังไม่มีทีท่าด้วยซ้ำ ว่าศาลชั้นต้นจะตัดสินคดีอาญาเมื่อไหร่
ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมานี้เอง คดีทุจริตฮั้วการก่อสร้างโรงพักและแฟลตตำรวจ จำนวน 396 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 5,848 ล้านบาท ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เพิ่งอ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำ อม.22/2565 ยกฟ้อง คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ กับพวกรวม 6 คน เป็นเหตุให้คุณสุเทพ ออกมาเปิดใจให้สัมภาษณ์ว่า
"ขอให้ดูกรณีที่เกิดขึ้นกับผม ต้องตกอยู่ใต้กระแสการโจมตีว่าเป็นคนเลว คนทุจริต ตั้ง 8-9 ปี แต่ผมก็อดทนอดกลั้น และอาศัยความจริงเข้ามาต่อสู้... คนดีทั้งหลาย ก็สมควรจะมีกำลังใจ ประเทศไทยมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คุ้มครอง"
แหม... “คนดี” นี่ตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ จริงๆ
เมื่อ “จริยธรรม” มีไว้ใช้กับฝ่ายตรงข้าม... ทีนี้ก็ยิ่งลำบาก ก็ยิ่งว้าวุ่นเลย
ภายใต้ “รัฐบาลสลายขั้ว” ว่ากันว่า “สงครามสีเสื้อ” ระหว่างพี่น้อง “เสื้อเหลือง” กับพี่น้อง “เสื้อแดง” ได้จบสิ้นลงไปแล้ว การรำลึกเหตุการณ์ 17 ปี การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จึงเป็นไปอย่างเงียบเหงา พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำรัฐบาลที่ถูกยึดอำนาจไป เลือกที่จะไม่ออกมาพูดถึงการรัฐประหารอีก และจดจำวันที่ 19 กันยายน ของทุกปี แค่ในฐานะวันครบรอบการก่อตั้งพรรค เท่านั้น
“ผี” หรือ “ปีศาจ” ของสังคมประชาธิปไตยแบบไทยๆ ที่ว่ากันว่า เริ่มต้นจาก “คณะราษฎร์” มาสู่ “คอมมิวนิสต์” และ “ทักษิณ” และปัจจุบัน ได้เคลื่อนมาเป็น “ก้าวไกล” ทำให้ความขัดแย้งและคู่ขัดแย้งใหม่ของสังคมไทย ก่อนการฉีก MoU รัฐบาล 8 พรรค เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ระหว่าง “อนุรักษ์นิยม” และ “เสรีนิยม” จึงได้กลายมาเป็น “เสื้อเหลือง” + “ติ่งแดง” ปะทะ “ด้อมส้ม” เรียบร้อยแล้ว
การที่แกนนำ พธม. และพี่น้อง “เสื้อเหลือง” ไม่ออกมาต่อต้านการกลับมาของ คุณทักษิณ ชินวัตร และการซัดกันอย่างดุเดือด ระหว่าง คุณปีใหม่ ศิริกุล แฟนคลับพรรคเพื่อไทย จ.นครปฐม กับ คุณอมรัตน์ โชคปมิตรกุล อดีตกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล หรือที่พี่น้องเสื้อแดงในพื้นที่เคยเรียกว่า "เจี๊ยบ นครปฐม" คือประจักษ์หลักฐาน ของการเกิดขึ้นแล้วของสมรภูมิทางการเมืองใหม่นี้
การบังคับใช้ “กฎหมาย” อย่าง “สองมาตรฐาน” โดยกลไกของรัฐ ทั้งในกระบวนการยุติธรรม และองค์กรอิสระ ที่เคยเปรียบเทียบกันระหว่าง 2 ขั้วเดิม ตอนนี้ได้ย้ายตำบลกระสุนตก มาที่พรรคก้าวไกล และเครือข่ายสีส้ม แล้วอย่างชัดเจน ยิ่งไปกว่านั้น ได้ขยายขอบเขตออกไปสู่ประเด็นทาง “จริยธรรม” อันมีความหมายที่กว้างขวางและคลุมเครือกว่า “กฎหมาย” ที่มีตัวบทกำกับไว้ค่อนข้างชัดเจน แต่สามารถใช้เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิผลกว่า ในการจัดการกับฝ่ายตรงข้าม
สัปดาห์ที่ผ่านมา คุณพรรณิการ์ วานิช อดีต สส.บัญชีรายชื่อ และอดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ คือตัวตึงสีส้มรายแรก ที่ถูกจัดการด้วยเครื่องมือใหม่นี้ ศาลฎีกามีคำพิพากษา คดี คมจ. 1/2565 ว่า คุณพรรณิการ์ ฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ไม่เคารพและเทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงลงโทษให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง รวมถึงการดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ตลอดชีวิต
ประเด็นที่เราต้องตระหนักให้มาก จากคำพิพากษาดังกล่าว ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม คือ
1) มันเป็นกฎหมายที่มีผลย้อนหลัง กล่าวคือ ได้ขยายอำนาจออกไปควบคุมพฤติกรรมของผู้คน ย้อนเลยไปก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ โดยดูเหมือนว่าจะสามารถย้อนกลับไปได้ไกลเท่าที่มันต้องการ
2) มันได้ขยายขอบเขต ให้สามารถตีความและเอาผิดได้อย่างกว้างขวาง กล่าวคือ แม้จะรอดจากความผิดทาง “กฎหมาย” เช่น พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 แต่ก็สามารถที่จะเอาผิดทาง “จริยธรรม” โดยไม่จำเป็นต้องมีลักษณะเป็น “เท็จ” แค่การ “พาดพิง” ก็สามารถตีความว่าเป็นการ “ไม่เคารพและเทิดทูน” ได้
3) มันได้ขยายระยะเวลาการลงโทษ จากเดิมที่เคยตัดสิทธิทางการเมืองกันพอหอมปากหอมคอ เพียง 5 ปี มาเป็นตลอดไป กลายเป็น “การประหารชีวิตทางการเมือง” และ
4) ที่สำคัญก็คือ โฆษกศาลยุติธรรม ได้ออกมายืนยันด้วยว่า “คำพิพากษาดังกล่าว ถือเป็นอันสิ้นสุดตามกฎหมาย ไม่สามารถยื่นอุทธรณ์อีกได้” เรียกว่าโป้งเดียวจอด
นอกเหนือจากการวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ถึงปัญหาและความน่ากังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ในอนาคตแล้ว เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ยังได้ออกมาแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะต่อประเด็นนี้ ว่าควรย้ายการพิจารณาประเด็นทางจริยธรรม ออกไปจากรัฐธรรมนูญและศาลฎีกา ให้เป็นเรื่องของแต่ละองค์กรไปทำหน้าที่ว่ากันเอาเอง
ทีนี้ก็ยิ่งลำบาก ก็ยิ่งว้าวุ่นเลย เพราะสดๆ ร้อนๆ ที่วุฒิสภา ซึ่งเขาก็มี คณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา มี พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เป็นประธาน ทำหน้าที่พิจารณาในเรื่องเหล่านี้กันเอง เหมือนกับที่ ดร.ปิยบุตร เสนอเป๊ะ เพิ่งลงมติรับรองว่า ส.ว. ดัง 2 ท่าน ได้แก่ คุณธานี อ่อนละเอียด (กรณีฝาก ส.ต.ท.หญิง กรศศิร์ บัวแย้ม เข้ารับราชการ และรู้เห็นกับการทารุณทหารรับใช้) และ คุณกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ (กรณีพิพาทวัดบางคลาน จ.พิจิตร) ไม่มีความผิดทางจริยธรรมตามที่ถูกร้องเรียน ไม่ควรแม้กระทั่งถูก “ว่ากล่าวตักเตือน” ตามความเห็นของคณะกรรมการจริยธรรมวุฒิสภา
ควรจะจบบทความนี้อย่างไรดี ก็กรุณาช่วยเติมให้ด้วยก็แล้วกันครับ... เบิ่ดคำสิเว้า
ศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ
ผู้อำนวยการ สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
อีเมล [email protected]
ข่าว
23 พ.ย. 2567 17:35 51 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:48 60 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:26 73 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 16:01 77 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:29 88 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:07 76 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 15:01 103 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 14:58 70 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:36 96 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:28 115 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:26 131 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:23 128 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:20 118 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:04 106 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 11:01 121 views
ข่าว
23 พ.ย. 2567 10:49 137 views