วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม 2568
6 พ.ค. 2566 20:23 | 1333 view
@admin
เมื่อพูดถึงรัฐสวัสดิการที่หมายถึงการที่รัฐดูแลประชาชนผ่านระบบภาษี โดยทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลจัดหาสวัสดิการพื้นฐานที่จำเป็นให้ครอบคลุมประชาชน หนึ่งในตัวอย่างประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการและอยู่ในภาพจำของใครหลายคน คงหนีไม่พ้นประเทศสวีเดน ประเทศในกลุ่มนอร์ดิก ที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปยุโรป สวีเดนไม่ใช่แค่ตัวอย่างของประเทศที่ใช้สวัสดิการเท่านั้น แต่ยังเป็นประเทศที่บริหารจัดการระบบสวัสดิการได้ดีเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย อย่างไรก็ดี ระบบสวัสดิการของสวีเดนก็เหมือนกับทุกสิ่งบนโลกที่มีทั้งข้อดีและข้อบกพร่อง ซึ่งบทความนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจตรวจสอบข้อบกพร่องของระบบสวัสดิการสวีเดน ผ่านการมองความไม่เท่าเทียมในการจ่ายบำนาญผู้สูงอายุชายและหญิง แต่ก่อนที่จะไปถึงประเด็นนั้น เราต้องทำความรู้จักกับระบบสวัสดิการของประเทศนี้กันก่อน พื้นฐานสังคมดีมาจากการเก็บภาษีที่ดี ระบบสวัสดิการต่างๆ ของสวีเดนเป็นระบบที่รัฐนำภาษีของประชาชนมาแปรเปลี่ยนเป็นสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ในชีวิตเพื่อสนับสนุนให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้โดยไม่มีปัญหาขาดแคลน บริการสุขภาพ การศึกษาขั้นพื้นฐาน การประกันการว่างงาน ระบบขนส่งสาธารณะ รวมไปถึงระบบเงินบำนาญที่เราจะพูดถึงในบทความนี้ด้วย การที่ระบบรัฐสวัสดิการในสวีเดนสามารถตั้งรกรากในสังคมมาอย่างยาวนาน เกิดจากการที่ประเทศนี้มีระบบการจัดเก็บภาษีที่ดี หน่วยงานจัดเก็บภาษีของสวีเดนมีชื่อทางการว่า “สแกตเตอเวอเก็ต” หรือถ้าเป็นบ้านเราก็คือ “กรมสรรพากร” นั่นเอง สแกตเตอเวอเก็ตจะเป็นผู้ออกเลขประจำตัว และเก็บภาษีจากประชาชนชาวสวีเดน และผู้ที่อพยพเข้ามาในประเทศ หน่วยงานจะทำหน้าที่ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต โดยระบบการเก็บภาษีของสวีเดนจะเป็นระบบก้าวหน้า ถ้าได้รายได้สูง ภาษีก็สูงตาม นอกจากนี้การเก็บภาษีจะเริ่มต้นที่ระบบท้องถิ่นก่อน ส่วนที่ขาดเหลือ รัฐบาลกลางก็จะเรียกเก็บจากคนรวยที่มีรายได้สูง หากมีรายได้ไม่เกิน 440,000 โครนต่อปีจะเสียภาษีท้องถิ่นประมาณ 30% หรือราว 92,000 โครน แต่จะไม่เสียภาษีให้รัฐบาลกลาง ทั้งนี้ถ้าผู้เสียภาษีมีรายได้มากกว่า 440,000 โครนต่อปี ก็ต้องเสียให้ภาษีรัฐบาลกลางเพิ่มตามอัตรารายได้ที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะอยู่ราวร้อยละ 20-25 หรือหมายความว่าต้องจ่ายภาษีสองเด้งที่ร้อยละ 50-55 ของรายได้ ถึงภาษีจะแพง แต่คนนั้นเท่าเทียมกัน แม้ว่าการเก็บภาษีในสวีเดนจะแพงมากจนเกือบคิดเป็นครึ่งหนึ่งของรายได้ในแต่ละปี แต่ชาวสวีเดนที่เป็นชนชั้นกลาง และเป็นแรงงานสำคัญในการพัฒนาประเทศก็ยินดีอย่างมากที่จะจ่ายเงินส่วนนี้ให้แก่รัฐบาล เนื่องจากพวกเขาเชื่อว่าสุดท้ายแล้ว เงินภาษีเหล่านั้นจะถูกนำมาแปรเปลี่ยนเป็นสวัสดิการในชีวิตประจำวันและเป็นพื้นฐานหากวันหนึ่งพวกเขาต้องตกงาน หรือแก่ชรา ในกรณีชราภาพ ชาวสวีเดนจะได้รับเงินบำนาญ ที่เป็นเงินที่จะได้รับหลังการเกษียณอายุ ซึ่งคิดคำนวณจากเงินที่บุคคลได้ทำการชำระภาษีตลอดระยะเวลาของการทำงานที่ผ่านมา ซึ่งชาวสวีเดนจะได้รับเงินบำนาญเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ระบบเงินบำนาญนี้ก็มีช่องว่างอยู่ คือ ผู้หญิงได้เงินบำนาญน้อยกว่าผู้ชาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นผลมาจาก “ความไม่เท่าเทียมทางเพศ” เก็บภาษีเท่าเทียม แต่ผู้หญิงได้เงินบำนาญไม่เท่าผู้ชาย เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ผู้หญิงชราชาวสวีเดนหลายคนได้ไปยืนประท้วงที่หน้าอาคารรัฐสภาของประเทศ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลเปลี่ยนระบบบำนาญให้ชาย-หญิงเท่าเทียมกัน โดยพวกเธอมาที่หน้าอาคารรัฐสภาแห่งนี้ทุกปี เป็นเวลามากกว่า 10 ปีแล้ว หญิงชราที่มาร่วมการประท้วงกล่าวกับสื่อว่า ผู้หญิงชราในสวีเดนได้เงินบำนาญน้อยกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 28 หรือถ้าเทียบแบบง่ายๆ คือ เมื่อผู้ชายได้เงินบำนาญ 100 โครนสวีเดน ผู้หญิงจะได้เพียง 72 โครนสวีเดนเท่านั้น โดยสาเหตุที่ผู้หญิงได้เงินบำนาญน้อยกว่าผู้ชายเกิดจากในช่วงเวลาที่พวกเธอทำงานได้ พวกเธอมีเงินเดือนที่น้อยกว่าผู้ชาย ทำให้ฐานภาษีน้อยกว่า เมื่อนำมาคำนวณเป็นบำนาญก็จะได้น้อยกว่าผู้ชายนั่นเอง หญิงชราที่มาประท้วงให้เหตุผลที่น่าสนใจกับสื่อมวลชนว่า การที่ผู้หญิงวัยทำงานมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายเกิดจากความไม่เสมอภาคทางเพศ งานที่ให้รายได้สูงมักจะเป็นงานที่รับเฉพาะเพศชาย หรืองานนั้นจ้างผู้หญิงแค่ในฐานะพาร์ทไทม์เท่านั้น ในขณะที่ผู้ชายได้รับการจ้างในฐานะพนักงานเต็มเวลา นอกจากนี้ผู้หญิงยังต้องทำงานอื่นๆ ที่เป็นงานที่ไม่ได้ค่าจ้าง (Unpaid work) เช่น การทำงานบ้าน เลี้ยงดูบุตร หรือจ่ายตลาด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นงานทั้งสิ้น เพราะหากไม่ใช่หญิงเหล่านี้ทำ ผู้ชายก็ต้องจ้างผู้อื่นมาทำและต้องจ่ายเงินแทนผู้ชาย ซึ่งงานที่ไม่ได้ค่าจ้างเหล่านี้ ทำให้เวลาการทำงานของผู้หญิงในช่วงวัยทำงานลดลง และเมื่อเวลาทำงานลดลง หมายความว่ารายได้ของพวกเธอก็จะลดลงด้วยเช่นกัน จากข้างต้น ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยในประเทศสวีเดนจึงออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลปรับเงินบำนาญให้สมเหตุสมผลและชดเชยให้เหมาะสมกับรายได้ส่วนที่หายไปจากการทำงานที่ไม่ได้เงิน ภายใต้แนวคิด Housework is work! เพื่อสร้างสังคมที่ทุกคนสามารถได้รับบำนาญอย่างเท่าเทียมถ้วนหน้า
ข่าว
31 มี.ค. 2568 11:39 20 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 11:35 80 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 11:14 49 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 10:37 1.45K views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 10:26 82 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 10:17 913 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 09:59 108 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 09:56 65 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 09:50 115 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 09:50 123 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 09:48 85 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 09:44 107 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 09:43 80 views
ข่าว
31 มี.ค. 2568 09:13 73 views
ข่าว
30 มี.ค. 2568 20:42 214 views
ข่าว
30 มี.ค. 2568 19:17 162 views