วันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2568
16 ก.ค. 2568 15:16 | 115 view
@pracha
บีโอไอ ระดมออกแพ็กเกจส่งเสริมลงทุน หนุนผู้ประกอบการไทยปรับตัว รับมือมาตรการภาษีของสหรัฐ และสงครามการค้าฝ่าสมรภูมิการแข่งขันสูง มุ่งเสริมศักยภาพผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยเข้าสู่ซัพพลายเชนโลก พร้อมเร่งกิจกรรมจับคู่สร้างเครือข่ายธุรกิจ ขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่ายอมรับตั้งแต่รัฐบาลสหรัฐเริ่มประกาศนโยบายเก็บภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวล ประกอบกับสถานการณ์การแข่งขันทางธุรกิจในประเทศมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ที่มีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธาน ได้ออกมาตรการชุดใหญ่ ภายใต้ชื่อว่า “มาตรการส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย เพื่อรองรับโลกยุคใหม่” แบ่งเป็น 5 มาตรการย่อย ดังนี้
มาตรการที่ 1 มาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย ปรับปรุงประสิทธิภาพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยกำหนดสิทธิประโยชน์พิเศษสำหรับเอสเอ็มอีไทย ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ให้สามารถลงทุนเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพ เช่น การปรับเปลี่ยนเครื่องจักรให้ทันสมัย การใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยยกระดับกิจการ การประหยัดพลังงาน การยกระดับสู่มาตรฐานสากล รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์แก่เอสเอ็มอีไทยเป็นพิเศษ จากเดิมยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี ในวงเงิน 50% ของเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพ ปรับเพิ่มขึ้นเป็นยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 5 ปี ในวงเงิน 100% ของเงินลงทุนในการปรับปรุงประสิทธิภาพ
มาตรการที่ 2 มาตรการส่งเสริมการใช้ชิ้นส่วนในประเทศไทย (Local Content) สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้า เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยมีช่องทางการขายที่กว้างขวางขึ้น และสามารถเชื่อมต่อกับบริษัทต่างชาติเพื่อเข้าสู่ซัพพลายเชนระดับโลก ผ่านการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อจูงใจให้บริษัทต่างๆ ใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศ โดยกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทจะต้องได้รับการรับรอง Made in Thailand (MiT) จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ซึ่งต้องใช้วัตถุดิบและชิ้นส่วนในประเทศตามสัดส่วนที่กำหนด คือ
การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) ไม่น้อยกว่า 40% ของมูลค่าวัตถุดิบทั้งหมด รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) 45% ชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า 15% และเครื่องใช้ไฟฟ้า 40% จะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มเติมอีก 2 ปีจากเกณฑ์ปกติ มาตรการนี้จะทำควบคู่กับกิจกรรมจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการรายใหญ่กับผู้ผลิตชิ้นส่วนไทย เช่น งาน SUBCON Thailand และ Business Matching ที่มียอดจับคู่ธุรกิจกว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี และกิจกรรม Sourcing Day ที่บีโอไอจัดร่วมกับบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
มาตรการที่ 3 การเพิ่มความเข้มข้นในการพิจารณากระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ สำหรับบางกิจการที่มีความเสี่ยงต่อการสวมสิทธิ และอาจได้รับผลกระทบจากมาตรการการค้าของสหรัฐ เช่น กิจการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์โลหะ สิ่งทอ เฟอร์นิเจอร์ กระเป๋า เป็นต้น โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขชัดเจนว่า ต้องมีกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญ โดยมีการแปรสภาพวัตถุดิบหลักเป็นผลิตภัณฑ์อย่างเพียงพอ เช่น มีการเปลี่ยนพิกัดศุลกากรอย่างน้อยในระดับ 4 หลัก เพื่อให้การผลิตเพื่อส่งออกของไทยเป็นที่ยอมรับและเกิดประโยชน์ต่อประเทศชัดเจนมากยิ่งขึ้น
มาตรการที่ 4 การจัดระเบียบการลงทุนในบางสาขา เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ และรักษาสมดุลในการแข่งขันทางธุรกิจให้เหมาะสม ดังนี้ (1) กิจการที่ใช้เทคโนโลยีไม่สูง และมีความเสี่ยงต่อมาตรการการค้าของสหรัฐ โดยยกเลิกการส่งเสริมผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์ อุปกรณ์เสริมและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ รวมทั้งกำหนดหุ้นไทยข้างมากในกิจการผลิตเฟอร์นิเจอร์ กระเป๋า และสิ่งพิมพ์ (2) กิจการที่มีปริมาณผลิตเกินความต้องการ (Oversupply) และกระทบกับผู้ผลิตในประเทศ โดยยกเลิกการส่งเสริมผลิตเหล็กขั้นปลาย เช่น เหล็กทรงยาวทุกชนิด เหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นหนา ท่อเหล็ก และกิจการตัดโลหะ (3) กิจการที่มีความเสี่ยงด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน เช่น การผลิตผลิตภัณฑ์โลหะ เคมีภัณฑ์ พลาสติก การรีด ดึง หล่อหรือทุบโลหะ โดยงดให้สิทธิถือครองที่ดินเพื่อประกอบกิจการ เพื่อให้กิจการเหล่านี้ต้องไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมและได้รับการกำกับดูแลที่รัดกุมมากขึ้น
มาตรการที่ 5 การปรับปรุงเงื่อนไขการจ้างงานบุคลากรต่างชาติ เพื่อสร้างโอกาสการจ้างงานในประเทศ และกระตุ้นให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่บุคลากรไทยมากขึ้น โดยกำหนดว่าหากเป็นกิจการผลิตที่มีการจ้างงานทั้งบริษัทตั้งแต่ 100 คนขึ้นไป จะต้องมีการจ้างบุคลากรไทยไม่น้อยกว่า 70% นอกจากนี้ ยังได้กำหนดรายได้ขั้นต่ำของบุคลากรต่างชาติที่จะขอใช้สิทธิด้านวีซ่าและใบอนุญาตทำงานกับบีโอไอ เช่น ถ้าเป็นระดับผู้บริหาร ต้องมีรายได้ไม่น้อยกว่า 150,000 บาทต่อเดือน และระดับผู้เชี่ยวชาญ ไม่น้อยกว่า 50,000 บาทต่อเดือน เพื่อให้สามารถคัดกรองบุคลากรต่างชาติที่มีทักษะสูงให้เข้ามาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มแก่เศรษฐกิจไทยได้ดียิ่งขึ้น
นอกจากนี้ บีโอไอ กำลังเตรียมเสนอมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษีของสหรัฐ อีกทั้งทำให้ประเทศไทยยังคงสามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในการดึงดูดการลงทุน โดยจะเน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดสหรัฐ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เช่น กลุ่มอาหาร ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนยานยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
“สงครามการค้าโลกที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง ทั้งจากภาษีที่สูงขึ้น กฎกติกาการค้าใหม่ๆ การแข่งขันกับสินค้านำเข้า การเข้ามาของการลงทุนต่างชาติและและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่อาจส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมดั้งเดิม ประเทศไทยจำเป็นต้องวางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจและการลงทุนให้เหมาะสม เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมเดิม ควบคู่กับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จะเป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาว บีโอไอจึงได้ออกมาตรการใหม่หลายด้าน เพื่อมุ่งจัดระเบียบการลงทุน พร้อมกับหนุนให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัว เพื่อคว้าโอกาสการเติบโตในโลกการค้ายุคใหม่”
ข่าว
16 ก.ค. 2568 17:14 126 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 16:55 95 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:55 130 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:45 110 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:21 105 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:16 116 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:16 103 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:12 99 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 14:41 146 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 14:35 120 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 14:21 117 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 13:55 140 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 13:51 204 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 13:34 143 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 13:24 156 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 13:18 140 views