วันพุธที่ 16 กรกฎาคม 2568
16 ก.ค. 2568 09:30 | 110 view
@pracha
‘เพื่อไทย’โร่เคลียร์ 4 ข้อกังขา‘รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย’ รับเป็นนโยบาย‘ประชานิยม’
16 กรกฎาคม 2568 เพจเฟซบุ๊ก “พรรคเพื่อไทย” โพสต์ข้อความชี้แจงกรณี “รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย” ระบุว่า... ใจร่มๆ เคลียร์ 4 ข้อสงสัย 20 บาทตลอดสาย ไม่ใช่ "ผู้ร้าย" แต่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตคนเมือง #ไร้วิสัยทัศน์ ไร้ฐานคิด
#20 บาทมีที่มา และเรามองเห็นสิ่งที่มากไปกว่าราคาที่ลดลง
นี่คือนโยบายที่พยายามออกแบบระบบเศรษฐกิจของเมือง บนฐานคิดว่า ระบบขนส่งสาธารณะต้องเป็นระบบที่เอื้อให้คนทุกคนเข้าถึงได้โดยง่าย และต้องไม่มีอุปสรรคด้านราคาเป็นกำแพงกั้น การดำเนินนโยบายนี้เป็นไปเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้คนจำนวนมากที่อาศัยอยู่ หรือเข้ามาอาศัยใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวง ให้โอกาสเลือกได้ว่า เมื่อเขามีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น เขาจะใช้มันไปกับอะไร
ตัวเลข 20 บาท ไม่ได้เป็นตัวเลขที่คิดขึ้นมาลอยๆ แต่มาจากการคำนวณค่าเฉลี่ยค่าใช้จ่ายในการโดยสารรถไฟฟ้าต่อเที่ยวต่อคน พบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาท การปรับลดราคาให้เหลือ 20 บาท มาจากความต้องการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางลง 40%
สมมุติว่าเราต้องเดินทางออกไปทำงาน หรือไปทำกิจกรรมอื่นๆ เราจะใช้รถไฟฟ้าอย่างน้อย 2 รอบ (ไป–กลับ) เท่ากับว่าในหนึ่งวันเราจะมีเงินเหลืออย่างน้อย 30 บาท (ซึ่งจริงๆ หลายคนอาจจะจ่ายค่ารถไฟฟ้ามากกว่า 35 บาทอยู่แล้ว และเขาจะมีเงินเหลือมากกว่านั้น) เท่ากับว่าเดือนหนึ่งเราจะมีเงินเหลือขั้นต่ำ 900 บาท คิดเป็นเวลาทั้งปีเราจะมีเงินเหลือไปใช้จ่ายเรื่องอื่นๆ อย่างน้อย 10,800 บาท
ข้อมูลโดยภาพรวมภายในหนึ่งวัน พบว่ามีผู้โดยสารรถไฟฟ้ารวมทุกสายอยู่ที่วันละประมาณ 1.4 ล้านคน นั่นเท่ากับว่าในวันหนึ่ง คนที่ใช้รถไฟฟ้าจะมีเงินเหลือรวมกันวันละ 42 ล้านบาท แล้วถ้าคิดเป็นปี เท่ากับว่าเรามีเงินหมุนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 15,330 ล้านบาท แทนที่เงินจำนวนนี้จะถูกจ่ายเป็นค่าโดยสาร โดยที่ประชาชนไม่ได้อะไรเลย
และที่สำคัญ สิ่งที่นโยบายนี้คืนให้กับประชาชนในเมืองหลวงและปริมณฑล ไม่ได้มีแค่เงิน และโอกาสในการเลือกใช้เงินที่เหลือในแต่ละเดือน แต่มันเป็นสิ่งไม่อาจประเมินค่าได้ คือ ‘เวลา’
ย้ำชัดๆ อีกครั้ง นี่คือการฝังหมุดลงไปในระบบขนส่งสาธารณะว่า ความเร็วต้องไม่ใช่เรื่องเฉพาะของคนมีอันจะกินเท่านั้น มันคือการกระจายโอกาส และคืนความเท่าเทียมให้กับผู้คน
#ใช้ภาษีประชาชนทั้งประเทศ แต่มีแค่คนกรุงฯ ได้ประโยชน์
#ใช้ภาษีประชาชน คนเมืองได้ใช้ คนอยู่ไกลได้ประโยชน์ทางอ้อม
เรื่องนี้ต้องย้อนกลับมาทำความเข้าใจกันใหม่ว่า ใครคือคนกรุงเทพฯ หากเรากำลังคุยกันเรื่องจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ เราสามารถแบ่งประเภทได้ 2 อย่าง หนึ่งคือกลุ่มที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ คนกลุ่มนี้มีจำนวนอยู่ที่ 5.7 ล้านคน ส่วนอีกกลุ่มคือประชากรแฝง ซึ่งก็คือคนต่างจังหวัดที่เข้ามาอาศัยและทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ คนเหล่านี้มีจำนวนมากถึง 10 ล้านคน ช่วงหยุดยาวที่รถไม่ติด ไปห้างดูคนบางตาไปมาก นั่นก็เพราะประชากรแฝงที่ไม่ใช่คนกรุงเทพฯ โดยกำเนิดเขาเดินทางกลับบ้านเกิด
ฉะนั้นไม่ใช่แค่คนกรุงเทพฯ แท้ๆ เท่านั้นที่จะได้ประโยชน์ เด็กมหาวิทยาลัย เด็กช่างจบใหม่ เดินทางมาทำงานใน กทม. ไม่จำเป็นต้องหาที่พักที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน ซึ่งอาจจะมีราคาสูง เขาสามารถเลือกที่พักที่ไกลออกไป แต่สามารถเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างที่พักกับที่ทำงานผ่านรถไฟฟ้าได้ เดินทางราคาถูก ใช้เวลาไม่มาก มีเงินเหลือเก็บ ไม่ต้องอยู่ในสภาวะ ‘เดือนชนเดือน’ อาหารเย็นในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนจะไม่ใช่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป แต่อาจจะเป็นเกาเหลาเนื้อแน่นๆ ชามสักชาม และอาจจะมีของหวานตบท้าย
ส่วนเรื่องการใช้เงินภาษีมาลงกับกรุงเทพฯ เป็นการเฉพาะ เอาจริงเรื่องนี้คุณสรยุทธ พิธีกรรายการกรรมกรข่าวเพิ่งพูดชัดว่า เราจะไปคิดแบบนั้นไม่ได้ ถ้าจะคิดแบ่งแยกกันแบบนี้แย่แน่ๆ ขยายความเพิ่มอีกนิดคือ ในบรรดาการทำนโยบาย หรือการทำโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลแทบจะทุกที่ ทุกรัฐบาล มันจำเป็นต้องเลือกและจัดสรรงบประมาณที่มาจากคนทั้งประเทศเข้าไปกับคนเฉพาะกลุ่ม และรอให้กลไกนโยบายมันทำงาน
ขอยกตัวอย่างแบบไม่เฉพาะเจาะจง สมมุติว่าในประเทศเรามีพื้นที่แห่งหนึ่งที่ดิน น้ำ อากาศ เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกพืชบางชนิด และเจ้าพืชชนิดนี้ก็มีราคาที่สูงกว่าสินค้าทางการเกษตรที่คนในพื้นที่ปลูก เราต้องการให้เขาปลูกพืชที่มีมูลค่าสูงกว่า แต่ปัญหาคือ เมื่อเขาปลูกได้ เขาไม่รู้จะเอาไปขายที่ไหน เส้นทางการขนส่งสินค้าเหล่านี้ต้องดีพอที่จะทำให้เจ้าพืชชนิดนี้ถูกส่งถึงมือผู้บริโภคภายในช่วงเวลาที่ยังมีคุณภาพดีที่สุดอยู่ การวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ ที่จะเชื่อมต่อพื้นที่นั้นเข้ากับศูนย์กลางการกระจายสินค้าจึงเป็นเรื่องจำเป็น
แล้วถามว่า คนที่ไม่ได้อยู่ในพื้นที่นั้น ไม่ได้ปลูกพืชชนิดนั้นจะได้ประโยชน์อะไร? ในทางตรงคือไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง แต่ในทางอ้อมคือ ประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้นแน่ๆ และรายได้ที่มันเพิ่มนั้นจะถูกนำไปใช้กับนโยบาย หรือโครงการต่อยอดเรื่องอื่นๆ ได้อีกมหาศาล
# เอื้อนายทุน
#ไม่ได้เอื้อทุน แต่ต้องอุดหนุนส่วนต่างสร้างความเป็นธรรมทุกฝ่าย
เอื้อนายทุนไหม? หากย้อนกลับไปอ่านที่การเคลียร์ข้อสงสัยแรก จะพบว่าในวิสัยทัศน์ของการดำเนินนโยบายนี้ คือการมองเห็นประชาชนเป็นศูนย์กลาง เราทำนโยบายนี้เพื่อลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสให้ประชาชน การที่รัฐจ่ายเงินอุดหนุนส่วนต่างให้เอกชนนั้นก็เพื่อรักษาความเป็นธรรมให้กับทุกฝ่าย
ผู้ประกอบการเอกชนทำหน้าที่ให้บริการในระบบสัมปทานอย่างถูกต้องตามสัญญา ถ้ารัฐต้องการกำหนดราคาค่าโดยสารให้ต่ำกว่าต้นทุนและราคาตลาด เพื่อประโยชน์ของประชาชน รัฐก็จำเป็นต้องรับผิดชอบส่วนต่างนี้ในฐานะเจ้าของนโยบาย ซึ่งนี่คล้ายกันกับแนวนโยบายของพรรคก้าวไกลที่เคยหาเสียงไว้เช่นกัน แน่นอน นี่มันคือเรื่องปกติ
แม้จะมีความคล้ายกันในด้านการจ่ายเงินอุดหนุนเอกชน แต่แนวทางของพรรคเพื่อไทย แตกต่างจากแนวทางของพรรคประชาชน หรือพรรคก้าวไกลในรายละเอียด และในความต่างนั้นไม่ใช่ต่างเพราะใช้เงินมากกว่า แล้วจะเป็นการอัดฉีดเงินเข้ากระเป๋านายทุนเต็มๆ เพราะการใช้เงินน้อยกว่าก็ถือเป็นการอัดฉีดเงินเข้ากระเป๋านายทุนเต็มๆ ไม่ได้ต่างกัน เพราะมันคือการอุดหนุนส่วนต่าง
สิ่งที่ต่างกันระหว่างเราคือ เราเลือกที่จะอุดหนุนประชาชนทุกคนที่ต้องการจะเดินทางด้วยรถไฟฟ้า ไม่ได้ต้องการอุดหนุนเพียงเฉพาะคนที่ต้องเดินทางไกลข้ามเส้นเท่านั้น
#สุดท้ายก็แค่นโยบายประชานิยม ไม่แตะโครงสร้าง
#ประชานิยมจริง แต่มองจากดาวอังคารยังรู้ว่า แตะโครงสร้างแน่นอน
หากมองในกรอบนโยบายประชานิยม คือ เป็นนโยบายที่ออกมาเพื่อคนส่วนใหญ่ และฟังก์ชันกับคนชนชั้นล่าง-ชนชั้นกลางค่อนล่าง มีการใช้งบประมาณรัฐแทรกแซงกลไกราคา อุดหนุนส่วนต่างให้เอกชน และเป็นนโยบายที่หวังผลในทางการเมือง
ใช่ นี่คือ ‘นโยบายประชานิยม’ ไม่ปฏิเสธว่าการทำงานเป็นพรรคการเมือง ต่างมุ่งหวังที่จะสร้างผลงาน ตอบสนองประชาชน โดยมุ่งหวังความนิยมจากประชาชน แทบจะไม่มีพรรคการเมืองไหนในโลกที่พยายามขับเคลื่อนนโยบายโดยมุ่งหวังว่าจะเห็นสังคมพระศรีอารย์ หากมีก็คงเป็นการหลอกตัวเอง เพราะทุกพรรคการเมืองเข้ามาในสนามเลือกตั้ง ต่อสู้กันด้วยนโยบายก็เพราะหวังว่าจะได้รับการเลือกตั้ง และต่างก็ต้องตั้งใจขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และตอบโจทย์กับประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งเป็นไปได้ยากที่โปรเจกต์ทางการเมือง หรือภาพฝันขนาดใหญ่จะสำเร็จลุล่วงภายในเวลา 4 ปี ทุกพรรคทุกคนที่ทำงานการเมืองต่างต้องการที่จะทำงานต่อเป็นเรื่องปกติ
ส่วนข้อปรามาสที่ว่า นโยบายลักษณะนี้ของเพื่อไทยไม่แตะโครงสร้าง ลองคิดถึง 30 บาทรักษาทุกโรค (ปัจจุบันรักษาได้ทุกที่) เป็นประชานิยมไหม? เป็น แต่ถามว่าโครงสร้างเปลี่ยนไหม? เปลี่ยนมหาศาล กองทุนหมู่บ้านเป็นประชานิยมไหม? เป็น โครงสร้างเปลี่ยนไหม? ลองคิดถึงคนจนที่ลืมตาอ้าปากได้ เพราะมีเงินทุนเข้าถึงง่าย ต่อยอดอาชีพได้ แบบนี้เรียกว่าแตะโครงสร้างไหม? ก็แตะ
แล้ว 20 บาทตลอดสาย จะเปลี่ยนโครงสร้างอะไรบ้าง? มองอย่างไวที่สุด ปัญหารถติดเรื้อรังมีโอกาสน้อยลงไหมเมื่อคนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น? คำตอบคือมีโอกาสลดลงแน่นอน เมื่อรถบนท้องถนนน้อยลง การก่อมลพิษทางอากาศก็จะเบาบางลง การที่อยู่ๆ มีเงินจำนวนอย่างน้อย 15,000 ล้านบาท แทนที่จะไปกองอยู่ที่ค่าโดยสาร แต่ได้ถูกเอาไปกระจายในเรื่องอื่นๆ ถามว่า นี่มันใช่การแตะโครงสร้างเศรษฐกิจอยู่บ้างไหม? ก็ใช่อีก
เอาจริงนะ ทั้งหมดมันอาจจะไม่ใช่การเริ่มต้นตั้งคำถามว่า ‘ทำเพื่อใคร’ แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดของทั้งหมดอาจจะเพียงเพราะ ‘เพื่อไทยเป็นคนทำ’
ข่าว
16 ก.ค. 2568 17:14 69 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 16:55 58 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:55 79 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:45 69 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:21 64 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:16 78 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:16 62 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 15:12 65 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 14:41 100 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 14:35 82 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 14:21 79 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 13:55 96 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 13:51 157 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 13:34 92 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 13:24 117 views
ข่าว
16 ก.ค. 2568 13:18 90 views