วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม 2568
7 ก.ค. 2568 14:51 | 111 view
@pracha
‘นฤมล-รมช.ศธ.‘ ร่วมงาน ‘วันสถาปนาฯ ครบรอบ 22 ปี สพฐ.‘ มั่นใจการศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก พร้อมร่วมพัฒนาการศึกษาไทยให้ดียิ่งขึ้น เร่งลดภาระครูเพิ่มสวัสดิการให้ครู
7 ก.ค. 2568 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จัดงานวันคล้าย วันสถาปนาสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครบรอบ 22 ปี โดยมี ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วย ผศ.ดร.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และมี ว่าที่ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) พร้อมผู้บริหารองค์กรหลัก ศธ. และผู้บริหาราะดับสูงของ สพฐ. ได้แก่ นางเกศทิพย์ ศุภวานิช รองเลขาธิการ กพฐ. นายพัฒนะ พัฒนทวีดล รองเลขาธิการ กพฐ. นายธีร์ ภวังคนันท์ รองเลขาธิการ กพฐ. นายภูธร จันทะหงษ์ปุณยจรัสธำรง ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. นางภัทริยาวรรณ พันธุ์น้อย ผู้ช่วยเลขาธิการ กพฐ. ผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 245 เขตฯทั่วประเทศ ผู้บริหารสำนัก ข้าราชการ พนักงานราชการ และบุคลากรของ สพฐ. เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง ณ อาคารสามัญ 99 สพฐกระทรวงศึกษาธิการ และผ่านระบบ Zoom meeting
จากนั้น ศ.ดร.นฤมล กล่าวเปิดงานพร้อมให้โอวาทและมอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์และผู้ชนะเลิศการประกวดบทความ “ความภาคภูมิใจในการเป็นบุคลากร สพฐ.” ว่า ตนถือว่าเป็นหนึ่งในผลผลิตของ สพฐ. เพราะจบจากโรงเรียนสังกัด สพฐ.เมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ก่อนจะเป็น สพฐ. ซึ่งหลายคนในที่นี้ก็เป็นผลผลิตจาก สพฐ. เช่นกัน ฉะนั้น เวลาคนมาบอกว่าการศึกษาไทยไม่ได้เรื่อง ใช้ไม่ได้ ต้องปฏิรูป ต้องแก้ไข ยังพัฒนาได้อีก แต่ถ้าถามว่าเป็นอย่างที่เขาพูดไหม ตนเองไม่เคยเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น เพราะเราก็พิสูจน์ด้วยตัวเองมาแล้วว่า เราเรียนจบโรงเรียนในสังกัด สพฐ. เราสอบเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้ และเราก็สอบชิงทุนไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เราสอบได้คะแนนสูงกว่านักเรียนจากต่างชาติเสียอีก เราเข้ามหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของโลกได้ เพราะฉะนั้นตนจึงเชื่ออยู่เสมอว่า การศึกษาไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก แต่ถามว่ายังมีจุดที่จะพัฒนาให้ดีขึ้นกว่านี้ได้อีกไหม มี พวกเราทุกคนในที่นี้ก็มีอยู่ในใจ และอยากจะทำให้การศึกษาไทยดีขึ้น แต่ทุกคนก็ทราบว่าอุปสรรคก็มี ข้อจำกัดไม่ว่าจะเป็นทางกฎหมาย ทางทรัพยากร ที่เราจะต้องก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านั้นให้ได้ และเราจะข้ามได้ก็ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ส่วนตนเองไปอยู่ที่ไหนก็ไม่อยากให้มีการบริหารงานแบบที่เป็นนายและเป็นลูกน้อง เราอยากจะให้เป็นครอบครัวเดียวกัน ตอนอยู่ที่กระทรวงเกษตร เราถือว่าเป็นครอบครัวเกษตร ผู้บริหารทุกคนถ้าอายุเยอะกว่าตนก็จะเรียกเขาว่าพี่ ที่กระทรวงศึกษาก็ขออนุญาตเรียก พี่ธนุ(เลขาธิการ กพฐ.) พี่สุเทพ (ปลัดศธ.) พี่เทวัญ(รมช.ศธ.) น้องหญิง (รมช.ศธ.) ขอเริ่มต้นที่เราเป็นครอบครัวเดียวกัน มีอะไรเราก็ปรึกษาหารือกัน เข้าอกเข้าใจกันจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหา ก็ต้องขอชื่นชมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ รวมไปถึงท่านรัฐมนตรีในอดีตที่ผ่านมาทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและรัฐมนตรีช่วยว่าการฯ ถือว่าท่านมีคุณูปการในการที่ช่วยกันพัฒนาการศึกษาไทยจนมาถึงปัจจุบัน
ดังนั้น ไม่ว่าอะไรที่ท่านก่อนๆได้มอบนโยบายไว้แล้วได้ทำสิ่งที่ดีๆให้กับกระทรวงศึกษาฯ เราก็จะดำเนินนโยบายเหล่านั้นต่อ เพียงแต่ว่าสิ่งที่อยากจะทำเพิ่มเติมมีอะไรบ้าง ก็อยากจะเห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น สำหรับ สพฐ. ก็คงจะเป็นเรื่องภาระงานของครู และตนก็หวังว่าจะได้ทำให้เห็นเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ก็คงจะได้มีโอกาสคุยกันในทางปฏิบัติให้มากยิ่งขึ้น ว่าจะลดภาระงาน ธุรการ งานการเงิน งานพัสดุอย่างไรให้กับครูทั่วประเทศไทย กว่า 500,000 คน เพื่อที่จะให้ตัวเหล่านั้นได้มีเวลามาพัฒนางานของตนให้ดี และไปโฟกัสที่งานสอนเพื่อพัฒนาลูกศิษย์ได้มากยิ่งขึ้น อันนี้จะเป็นภารกิจแรกที่เราจะทำงานร่วมกัน
ภารกิจที่สอง ที่อยากจะดูแลเพิ่มเติมคือเรื่องของสวัสดิการของครู ที่ยังมีไม่เพียงพอ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่เพียงแค่ สพฐ. อย่างเดียว คงต้องฝาก เลขาธิการ สกสค.ด้วย เพื่อให้เข้ามาร่วมกัน เพื่อให้ครูได้มีสวัสดิการที่เหมาะสม ครูจะได้ไม่ต้องห่วงน่าพะวงหลังในการที่จะทำภารกิจหลักของตนเอง นอกจากนี้ก็ยังมีภารกิจเรื่องของวิทยฐานะครูซึ่งตนก็จะได้หารือกับเลขาธิการ ก.ค.ศ. เพิ่มเติม
“ ก็ฝากให้กำลังใจพี่น้องครู ที่ดูผ่านระบบซูม ในเรื่องของนโยบายอื่นๆของกระทรวงศึกษาฯ ดิฉันได้คุยกับท่านปลัด และ เลขาธิการ สพฐ. ว่าเราไม่อยากจะทำอะไรที่ออกจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว โดยที่ครูไม่ได้มีส่วนร่วม เรามีครูที่จะต้องปฏิบัติตามนโยบายของกระทรวงศึกษาฯ รวม 500,000 คน ก็อยากให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกๆคน จึงขอฝากท่านธนุ และท่านปลัดศธ. ทำงานร่วมกันเพื่อให้ครูทุกๆคนเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและรับฟังจากทุกพื้นที่ นอกจากนั้น ก็อยากให้รับฟังจากผู้แทนองค์กรต่างๆด้วย ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการการศึกษา พี่น้อง สส.ในสภา ที่มีข้อเสนอแนะในการพัฒนาภาคการศึกษาของไทยมากมาย แล้วเราค่อยมาตกผลึกกัน ว่าเราจะทำอะไรบ้างในระยะเร่งด่วนนี้ และในระยะกลาง ระยะยาว เนื่องจากการเมือง ทุกท่านก็ทราบเรามาจากฝ่ายการเมือง เรามาเราก็ไป แต่ว่าพวกท่านเป็นฝ่ายประจำที่ต้องอยู่กับภาคการศึกษาไทยไปอีกนาน
สุดท้ายที่ตนได้รับข้อเสนอที่ฝากมาดูแลภาคการศึกษา เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้นซึ่งตนเองก็ทราบว่ามีการปรับปรุงแก้ไขไปในระดับหนึ่งแล้ว ก็คือเรื่องการศึกษาเกี่ยวกับวิชาประวัติศาสตร์ของการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทย เมื่อปีพ.ศ. 2566 ก็มีการออกอากาศของกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนก็อยากจะขอฝากท่านธนุ เลขาธิการ กพฐ. ว่าเราจะเพิ่มเติมเป็นวิชาประวัติศาสตร์และหน้าที่พลเมือง ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้ชัดเจน ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นได้อย่างไร ถือเป็นส่วนสำคัญที่เราจะต้องรู้ ที่มาที่ไปของประเทศที่มาที่ไปของระบอบการปกครองของเรา และรู้หน้าที่ว่าภายใต้ระบอบการปกครองของประเทศไทยที่เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ทุกคนมีหน้าที่สำคัญอะไรอย่างไรบ้าง จะได้สามารถไปทำหน้าที่ของตัวเอง เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยมีการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยที่ดียิ่งๆขึ้นไป”
สุดท้ายนี้ ขอแสดงความยินดีกับ สพฐ. ที่ยังเป็นทางการก็ครบรอบ 22 ปี แต่ถ้าไม่เป็นทางการก็น่าจะเกิน 100 ปีมาแล้วที่เราดูแลการศึกษาขั้นพื้นฐานให้กับประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้กับข้าราชการทุกท่านทั้งที่ส่วนกลางข้าราชการครูและข้าราชการในทุกระดับในทุกพื้นที่ด้วย
สุดท้ายคือหลักสูตรแกนกลาง ที่สพฐ. ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ตนก็อยากจะให้พิจารณาเพิ่มเติมในรอบถัดไปถ้าเป็นไปได้ ช่วยดูบริบทของพื้นที่ว่าความต้องการของความรู้พื้นฐานในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัดอาจจะไม่เหมือนกัน อย่างเช่นในพื้นที่ที่เป็นเกษตรกร เด็กอาจจะต้องมีความรู้ในเรื่องการเกษตร ความรู้เกี่ยวกับคุณภาพของดิน การพัฒนาดิน ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านได้ทรงทำเรื่องดินเอาไว้อย่างมากมาย ถ้าเราจะบูรณาการงานกับกระทรวงเกษตรก็ได้ เพราะมีหมอดินอาสาอยู่ 70,000 กว่าคนทั่วประเทศ ที่พร้อมจะมาเป็นครูอาสาให้กับโรงเรียน ทั่วประเทศไทย เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจเรื่องของคุณภาพดินและการพัฒนาดินเพื่อให้การเกษตรสามารถทำให้มีคุณภาพมีผลผลิตที่ดียิ่งขึ้นได้ ขอบคุณทุกท่านที่ทำงานการศึกษามาอย่างหนัก และขอให้ท่านทำงานอย่างเต็มกำลังใจต่อไป
ผศ.ดร. กล่าวเพิ่มเติม ว่า ส่วนที่มีครูของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี ลงโทษด้วยการตีนักเรียน 60 ครั้งนั้น ซึ่งทางเลขาธิการการ กพฐ.บอกว่าได้ตั้งกรรมการสอบสวนและสั่งให้ย้ายครูคนดังกล่าวออกจากพื้นที่ไปแล้ว ซึ่งในเรื่องนี้ สพฐ.มีกระบวนการและมีขั้นตอนในการลงโทษครูที่ลงโทษเด็กเกินกว่าเหตุอยู่แล้ว แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องตรวจสอบด้วยว่าทำไมครูถึงลงโทษเด็กรุนแรงเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
ด้านเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสถาปนาฯ สพฐ. ครบรอบ 22 ปี ในวันที่ 7 กรกฎาคม 2568 สพฐ. ได้จัดงานวันคล้ายวันสถาปนาฯ เพื่อให้ผู้บริหาร ข้าราชการ และบุคลากรในสังกัด ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่เป็นพลังขับเคลื่อนของ สพฐ. ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างความรักความสามัคคีในหน่วยงาน รวมถึงมอบรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ให้แก่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปี 2568 และมอบรางวัลการประกวดบทความ "ความภาคภูมิใจในการเป็นบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประจำปี 2568" และในโอกาสอันสำคัญนี้ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ทั้ง 245 เขต ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ ก็ได้จัดกิจกรรมคู่ขนาน ทั้งในรูปแบบ On-site และ Online อย่างพร้อมเพรียง เพื่อแสดงออกถึงความร่วมมือความพร้อม และความภาคภูมิใจในองค์กรร่วมกัน
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา การจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ถือเป็นภารกิจหลักของ สพฐ. และเป็นส่วนสำคัญ ที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยให้มีพื้นฐานการศึกษาที่ดี มีความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจ มีสติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข อีกทั้งการศึกษาของไทยจำเป็นต้องก้าวต่อไปพร้อมเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้กับระบบการศึกษาไทย ดังนั้น เพื่อเป็นการสร้างคนไทยให้มีความรู้และมีคุณภาพ จึงต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา เพื่อการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืนเพราะการศึกษาถือเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ
"สพฐ. พร้อมเดินหน้าสู่ปีที่ 23 ด้วยหัวใจที่มุ่งมั่นให้เด็กและเยาวชนไทย เติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ดีมีคุณภาพ มีความรัก ความสามัคคี ตระหนักในหน้าที่ของตน โดยขับเคลื่อนผ่านนโยบายและจุดเน้นของ สพฐ.อย่างต่อเนื่อง จนประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรม เน้นย้ำการพัฒนาผู้เรียนให้มีสมรรถนะที่จำเป็นอย่างรอบด้านสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงในโลกแห่งดิจิทัลได้อย่างสมบูรณ์ โดยยังคงเอกลักษณ์ความเป็นไทย ด้วยหัวใจที่พร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง" เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
พร้อมกันนี้ สพฐ. ได้จัดพิธี Kck-off การใช้ระบบสารบรรณอิเล็กทรอนิกส์ของ สพฐ. อย่างเป็นทางการในชื่อระบบสำนักงานดิจิทัล OBEC-DO (OBEC Digital Office) โดยทุกสำนักของ สพฐ. จะใช้ระบบดิจิทัลในการรับ-ส่งงาน เสนองาน ลงนามเอกสารต่างๆ ฯลฯ ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลดิจิทัลเพื่อลดการใช้กระดาษ เพิ่มความรวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพ ยกเว้นเอกสารที่จำเป็นยังคงใช้กระดาษตามเหมาะสม โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2568 เป็นต้นไป
ข่าว
7 ก.ค. 2568 17:02 86 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 16:55 85 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 16:47 87 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 16:38 78 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 16:30 75 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 16:28 80 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 16:26 122 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 16:21 95 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 15:26 61 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 15:23 83 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 15:09 94 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 14:51 112 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 14:49 69 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 14:35 81 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 14:03 84 views
ข่าว
7 ก.ค. 2568 13:52 91 views