วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568
11 ก.พ. 2568 12:11 | 130 view
@pracha
‘ปชน.’ยันวาระแก้รัฐธรรมนูญไม่ใช่ข้อเรียกร้องของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน แต่เป็นนโยบายรัฐบาลที่แถลงต่อรัฐสภา เผยเตรียม 30 ขุนพล-แบ่ง 3 โจทย์ ชำแหละแก้รัฐธรรมนูญ ‘พริษฐ์’ ลั่นไม่หวั่นญัตติยื่นศาล รธน. บอกสิ่งที่ทำอยู่เป็นไปตามคำวินิจฉัย บอกแม้ถูกตีตกจะหาทางผลักดันให้สำเร็จให้ได้ จี้‘นายกฯ’ แสดงท่าทีเรื่องนี้
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 11 กุมภาพันธ์ ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 และหมวด 15/1 ในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์ว่า มีความสำคัญ 2 ด้านคือ เป็นโอกาสสำคัญที่เราจะเข้าใกล้สู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มากที่สุด นับตั้งแต่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญออกมาในปี 2564 ที่ผ่านมาทางคณะกรรมการของประธานสภาฯ ไม่เคยบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมมาก่อน และอีกหนึ่งความสำคัญคือ หากรัฐสภาไม่มีมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปได้ที่เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันการเลือกตั้งในครั้งหน้า
นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า วาระการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่ใช่เป็นแค่ข้อเรียกร้องของพรรคแกนนำฝ่ายค้าน หรือเป็นนโยบายของพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลที่นายกรัฐมนตรี เคยแถลงไว้ต่อรัฐสภา ฉะนั้น ตนจึงคิดว่าบุคคลที่ควรมีส่วนสำคัญในการที่จะพยายามช่วยผลักดันให้วาระดังกล่าวสำเร็จคือนายกรัฐมนตรี แต่ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีกลับไม่เคยสื่อสารเรื่องนี้ในที่สาธารณะ นอกจากนี้ ยังเห็นว่าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้ามาประกบ มีเพียงของพรรคเพื่อไทย ฉะนั้น ในอีก 2-3 วันนี้อยากเห็นบทบาทของนายกรัฐมนตรีเข้ามาผลักดันวาระดังกล่าวให้มีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้น
นายพริษฐ์กล่าวอีกว่า วันนี้เป็นการประชุมครม. ครั้งสุดท้ายก่อนจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็หวังว่าจะมีสัญญาณอะไรออกมา ส่วนที่มีสว. บางคนออกมาให้สัมภาษณ์เหมือนกับรัฐสภาไม่สามารถที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ซึ่งหากไปเปิดดูคำวินิจฉัยเมื่อปี 2564 จะเห็นย่อหน้าสุดท้ายระบุว่ารัฐสภามีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ หรือบางคนอาจจะบอกว่าแม้รัฐสภาจะสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ก็ต้องทำประชามติ ก่อนที่จะมีการพิจารณาในวาระที่ 1 ตนต้องบอกว่าแม้รัฐสภาจะมีมติเห็นชอบแต่ก็ไม่ได้นำไปสู่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันที แต่ต้องทำประชามติก่อนหลังวาระ 3 ตามมาตรา 256 (8) และหลังจากที่ทำรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็จะต้องทำประชามติอีกรอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคปชน.เตรียมความพร้อมในการอภิปรายอย่างไร นายพริษฐ์กล่าวว่า เราพยายามเต็มที่ในการที่จะสื่อสารกับสังคมและสมาชิกรัฐสภาเพื่อคลายทุกข้อสงสัย โดยเราจัดทัพคนที่จะอภิปรายไว้ประมาณ 30 คน แบ่งออกเป็น 3 โจทย์คือ โจทย์ที่หนึ่งจะอธิบายให้เห็นชัดว่าทำไมควรต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือทำไมรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 จึงมีปัญหา โจทย์ที่สองคือ เราเสนอให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างไร และโจทย์ที่สามคือ จะอภิปรายให้คลายข้อสงสัยและข้อกังวลระหว่างการอภิปราย
“แม้เราจะคาดการณ์การลงมติล่วงหน้าไม่ได้ แต่เมื่อเทียบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคเพื่อไทยเคยเสนอเมื่อปี 2563 และที่ประชุมรัฐสภามีมติรับหลักการไปแล้ว และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะมีการพิจารณาในวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ เราจะเห็นว่ามีเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกัน ไม่ได้มีการเสนอเนื้อหาอะไรที่เกินเลยไปกว่าที่เคยเสนอเมื่อปี 2563 เลย อย่างไรก็ตาม เรายินดีรับฟังทุกข้อทักท้วงและชี้แจงทุกข้อสงสัย” นายพริษฐ์ กล่าว
เมื่อถามว่า หากวันที่ 13-14 กุมภาพันธ์นี้ ร่างดังกล่าวไม่ผ่านหรือมีการเสนอญัตติส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ พรรค ปชน.จะทำอย่างไรต่อ นายพริษฐ์กล่าวว่า ต้องรอดูวันนั้น หากมีการเสนอญัตติให้ส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก่อน ตนก็จะอภิปรายว่าไม่เห็นด้วย และขอยืนยันว่าสิ่งที่เราทำอยู่เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญทุกอย่าง รวมถึงเราต้องถามกลับไปว่าคนที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญนั้นคาดหวังที่จะได้รับผลอะไร อย่างไรก็ตาม แม้จะลงมติแล้วไม่ผ่าน พรรค ปชน.คงต้องมีการหาแนวทางต่อไปในการผลักดันที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่คำถามนี้ก็ควรที่จะทำรัฐบาลด้วย เพราะเป็นนโยบายของรัฐบาลเช่นกัน
ถามว่า ห่วงหรือไม่เพราะวันดังกล่าวก็จะมีมวลชนมาปักหลักรอติดตามการพิจารณาในสภาด้วย นายพริษฐ์ กล่าวว่า การที่ประชาชนมาแสดงออกหรือชุมนุมอย่างสันตินั้น เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยอยู่แล้ว แน่นอนว่าอาจมีประชาชนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เรากำลังจะจัดทำ แต่เราก็ยินดีรับฟังทุกเสียง และขอให้สมาชิกรัฐสภารับฟังทุกเสียงด้วย ถือเป็นเรื่องปกติที่ประชาชนที่ให้ความสำคัญกับวาระที่พิจารณาในสภา อาจจะมาแสดงออกและดูว่ารัฐสภาคิดเห็นอย่างไร
ข่าว
11 ก.พ. 2568 14:46 118 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 14:40 370 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 14:33 83 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 14:28 131 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 14:26 105 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 14:26 94 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 13:51 118 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 13:47 133 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 13:28 108 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 13:11 154 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 12:29 104 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 12:11 131 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 12:07 101 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 11:32 110 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 11:21 175 views
ข่าว
11 ก.พ. 2568 11:13 182 views