วันพุธที่ 4 ธันวาคม 2567
19 พ.ย. 2567 09:24 | 809 view
@pracha
อ.สุกรี ฉายเหรียญอีกด้านของ "บิ๊กโต้ง" กิตติรัตน์ ยกเป็นบุคคลผู้ที่มีบุญคุณกับการพัฒนาการศึกษาด้านดนตรีอย่างแท้จริงของประเทศไทย ริเริ่มสร้าง"อาคารเรียนศิลปินกินนอน"ในม.มหิดล ผุดห้อง "เปรมดนตรี" ที่จ.สงขลา ปิดทองหลังพระการเติบโตของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ม.มหิดล เป็นผู้ผลักดัน เป็นผู้สนับสนุน และแนะนำการจัดกิจกรรมดนตรีมากมาย
รศ.ดร. สุกรี เจริญสุข อดีตผู้อำนวยการและคณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานกรรมการในคณะกรรมการบริหารหอภาพยนตร์ เคยเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับคุณงามความดีของกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ อดีตรวม.คลังและพาณิชย์ ที่ปัจจุบันกำลังโดนกระแสต่อต้านจากคนบางกลุ่มอย่างหนักในการนั่งเป็นประธานบอร์ดแบงค์ชาติ โดยมีใจความว่า....... " กิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นบุคคลที่มีบุญคุณกับผมทั้งโดยส่วนตัวและส่วนรวมไว้เป็นอย่างมาก ได้พบกันและรู้จักกันเมื่อปี พ.ศ. 2546 ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นวันอาทิตย์ ซึ่งขณะนั้นผมกำลังฝึกซ้อมวงแชมเบอร์ออร์เคสตร้าอยู่ ได้ทำความรู้จักกัน เวลาต่อมากิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้มอบรางวัลโดยจัดตั้ง “มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข” เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2546 เลขทะเบียน กท. 1265 ผมได้เรียนไปว่า “ชื่อคนที่ตั้งเป็นมูลนิธิ ส่วนใหญ่เป็นชื่อของคนที่ตายแล้ว” แต่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ตอบว่า “ได้ให้รางวัลกับมูลนิธิฯ อื่นๆ ไปแล้ว แต่ของอาจารย์สุกรี เจริญสุข ไม่มีมูลนิธิฯ” การรับทุนก็ต้องตั้งเป็นมูลนิธิฯ
ปลายปี พ.ศ. 2546 ได้ลงไปในพื้นที่จังหวัดยะลาด้วยกัน ได้พบกับคุณพงษ์ศักดิ์ ยิ่งชนม์เจริญ ซึ่งเป็นคน “บ้างานอีกคนหนึ่ง” ต่อมาได้เป็นนายกเทศมนตรีของเทศบาลนครยะลา อย่างมั่นคงและยั่งยืน สิ่งที่เกิดขึ้นสำคัญมากๆ ก็คือ การจัดตั้งวงเยาวชนเทศบาลนครยะลาซิมโฟนีออร์เคสตร้า ดำเนินการต่อมากระทั่งปัจจุบัน
เดือนกันยายน พ.ศ. 2548 ผมได้นำวง ดร.แซกแชมเบอร์ออร์เคสตร้า ไปประกวดที่เมืองอินเตอร์ลาเก็น ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งขณะนั้นคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นผู้ให้การสนับสนุนการเดินทางของเด็กและตัวคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ภรรยา และน้องๆ ที่ตลาดหลักทรัพย์อีก 3 คน อาสาติดตามไปช่วยเหลือ ทำหน้าที่จ่ายตลาดซื้อกับข้าว ทำอาหาร ล้างถ้วยจานให้กับวงดนตรีของเด็กๆ โดยพักที่บ้านพักเยาวชนด้วยกันทั้งหมด
วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2548 วงเยาวชน ดร.แซกแชมเบอร์ออร์เคสตร้า ได้รับรางวัลชนะเลิศได้ที่หนึ่ง ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ซึ่งครั้งนั้นเป็นการเปลี่ยนภาพของวงการดนตรีในประเทศไทยเลยทีเดียว ประการแรกรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอนุมัติซื้อเครื่องดนตรีสำหรับวงซิมโฟนีออร์เคสตร้าใหม่ทั้งวง วง ดร.แซกแชมเบอร์ออร์เคสตร้า ได้บันทึกแผ่นเสียงและเป็นวงดนตรีแสดงประกอบภาพยนตร์เรื่อง “เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย” (Season Change) ซึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงค่านิยมการเรียนดนตรีครั้งสำคัญ
วันที่ 4-5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นวันเปิดปฐมฤกษ์แสดงของวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Phiharmonic Orchestra, TPO) โดยเด็กๆ เยาวชนที่ไปชนะเลิศที่สวิสเซอร์แลนด์ เป็นนักดนตรีหลัก และได้กลายเป็นซิมโฟนีออร์เคสตร้าที่มาตรฐานสูงวงหนึ่งของไทย คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นคนสอนให้ฝรั่งที่เป็นผู้อำนวยเพลง (Conductor) ได้ฝึกไหว้สวยๆ ให้กับผู้ชม
วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2553 คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้ไปหาผมที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ อีกครั้งหนึ่งซึ่งเป็นครั้งที่สำคัญมาก เพื่อสอบถามความเห็นเรื่อง การเปลี่ยนตัวเองไปเป็นนักการเมืองว่ามีความเห็นอย่างไร
“ถ้าผมจะไปเป็นรัฐมนตรี อาจารย์มีความเห็นอย่างไร” ผมได้ให้ความเห็นไปตรงๆ ว่า
“คุณเป็นคนที่รักใครรักจริง เกลียดใครเกลียดจริง ไม่ควรเป็นนักการเมือง เพราะคุณกะล่อนไม่เป็น และชีวิตคุณก็ไม่ควรตกต่ำถึงขนาดนั้น”
“แล้วถ้าผมรับปากเขาไปแล้วว่าจะไปเป็นรัฐมนตรีแล้ว อาจารย์เห็นว่าเป็นอย่างไร”
“เมื่อรับปากแล้วก็ควรจะไป แต่ก็ควรจะเลือกกระทรวงที่มีความเป็นสุภาพบุรุษ”
“มีด้วยหรือกระทรวงสุภาพบุรุษ”
“มีครับ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงการศึกษา หรือกระทรวงวัฒนธรรม อย่าไปกระทรวงเศรษฐกิจ เพราะมีคนถือไม้หน้า 3 คอยอยู่เยอะ”
ระหว่างที่คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กระทรงการคลัง และควบรองนายกรัฐมนตรี ได้นำวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย (Thailand Phiharmonic Orchestra, TPO) ไปแสดงที่ประเทศนิวซีแลนด์ แสดงที่ประเทศญี่ปุ่น แสดงที่ประเทศลาว แสดงที่ประเทศเมียนม่า แสดงที่ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ได้สร้างอาคารเรียน “ศิลปินกินนอน” และสร้างหอแสดงดนตรี” ชั้นนำของภูมิภาค โดยเชิญวงดนตรีขนาดใหญ่จากกรุงลอนดอน จากกรุงโตเกียว จากกรุงปักกิ่ง และวงจากกรุงเบอร์ลิน มาแสดงเพื่ออวดรสนิยมและมาตรฐานใหม่ทางดนตรี
คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นผู้ผลักดันการก่อสร้างอาคาร “เปรมดนตรี” ที่สงขลา โดยเฉพาะช่วยเหลือผลักดันหาทุนเพื่อจะสร้าง “หอเปรมดนตรี” จัดตั้งกองทุน “เปรมดนตรี” ขึ้น ตั้งแต่วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554
ระหว่างวันที่ 27 ตุลาคม ถึงวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2554 เกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่กรุงเทพฯ ผมได้ขออนุญาตอธิการบดี ทำหน้าที่ป้องกันน้ำท่วมที่ศาลายา ผมนอนเฝ้าที่มหาวิทยาลัย 45 วัน ป้องกันน้ำท่วมเอาไว้ได้ ในขณะที่คนจำนวนมากมีปัญหาน้ำท่วมปาก น้ำท่วมหัวใจ หัวใจรั่ว สมองจมน้ำ ผมและพรรคพวกได้รักษาพื้นที่เอาไว้ได้ โดยความช่วยเหลือจากผองเพื่อนของ “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” ผมได้เขียนหนังสือบันทึกเหตุการณ์เอาไว้ชื่อ “หัวใจใหญ่กว่าน้ำ” ความยาว 295 หน้า พร้อมบทเพลง “หัวใจใหญ่กว่าน้ำ” เอาไว้ด้วย
คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ได้สร้างคุณูปการให้กับวงการดนตรีโดยเฉพาะเรื่องของคุณภาพและมาตรฐานเอาไว้อย่างมาก นำวงเยาวชนจากยะลา วงดุริยางค์ของกองทัพบก และวงดุริยางค์ฟีลฮาร์โมนิกแห่งประเทศไทย จัดงานแสดงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555 รายการ “รักเมืองไทยเดินหน้าประเทศไทย” โดยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์และนายกรัฐมนตรี (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) นั่งชมร่วมกัน โดยมีทูตานุทูตทั่วโลก นั่งชมเป็นสักขีพยาน
โดยส่วนตัวผมแล้วไม่ได้สนใจอาชีพนักการเมืองอะไรนัก “เพื่อนคือเพื่อน” เมื่อคุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ไปทำงานการเมือง ทำให้ผมมีความรู้สึกดูแคลนนักการเมืองน้อยลง ยังเชื่อในความเป็นคนดี คนดีอยู่ที่ไหนก็คือคนดี “คนดีอยู่ในสังคมเหล่าใด ความสุขความเจริญก็จะเกิดขึ้นกับสังคมเหล่านั้น” (จารึกหุบเขาช่องคอย)
การเติบโตของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล มาตรฐานคุณภาพและราคาความน่าเชื่อถือ การเชื่อมโยงกับผู้ให้การสนับสนุนกิจกรรมดนตรีต่างๆ คุณภาพของการศึกษาดนตรี ชื่อเสียงที่สร้างให้ประเทศไทยได้นำหน้าด้านดนตรีในภูมิภาค คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง ผู้ปิดทองหลังพระ เป็นผู้ผลักดัน เป็นผู้สนับสนุน และแนะนำการจัดกิจกรรมดนตรี เวลาแสดงดนตรีที่เหมาะสม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังวิทยาลัยดนตรีด้วยใจเกินร้อย
ผมเองได้หมดเวลาไปแล้วและไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อีกต่อไป ได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ ทำกิจกรรมดนตรีใหม่ ที่ต้องเขียนบันทึกไว้เพื่อต้องการให้คนทั้งหลายได้ทราบความจริงและเข้าใจผู้ที่อยู่เบื้องหลัง ผู้ที่มีบุญคุณกับการพัฒนาการศึกษาดนตรีจริงๆ คือ คุณกิตติรัตน์ ณ ระนอง
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 17:03 129 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 16:15 69 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 16:10 63 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 15:39 93 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 15:26 144 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 15:21 135 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 15:18 129 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 14:20 142 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 14:17 137 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 14:15 129 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 14:12 121 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 13:44 117 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 13:40 135 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 11:39 138 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 11:31 148 views
ข่าว
3 ธ.ค. 2567 10:31 325 views