วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2567
3 ต.ค. 2567 12:23 | 1170 view
@pracha
กกร. โอดบางแข็งต่อเนื่อง 3 เดือนทะยาน 12% หรือแตะ 4.50 บาท หวั่นยังต่อเนื่องจนหมดช่วงที่เหลือของปีนี้ กระทบส่งออก 1.8-2.5 แสนล้านบาท จี้ ธปท. ดูแล พร้อมประเมินน้ำท่วมทุบเศรษฐกิจพัง 5 หมื่นล้านบาท ฉุดจีดีพี 0.2%
2 ต.ค. 2567 – นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่าที่ประชุมประเมินค่าเงินบาทในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว 12% หรือคิดเป็น 4.50 บาท จาก 36.8 บาท มาอยู่ที่ 32.3 บาท/เหรียญสหรัฐ เป็นการแข็งค่ากว่าค่าเงินอื่นในภูมิภาค กดดันการส่งออกและเป็นปัจจัยลบต่อความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี อาจกระทบรายได้ส่งออก 1.8-2.5 แสนล้านบาท
“กกร.มีความกังวลต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรให้ความสำคัญกับการดูแลค่าเงินไม่ให้แข็งค่าหรือผันผวนเร็วจนเกินไป และทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่าระดับ 34.0-34.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นระดับที่ธุรกิจแข่งขันได้ และให้เร่งพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างน้อย 0.25% ภายในปีนี้ และอีกประมาณ 0.25-0.5% ภายในปีหน้า ช่วยลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว และให้พิจารณาทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ที่กำลังอยู่ในช่วงหารือร่วมกับกระทรวงการคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับบริบทศักยภาพและโครงสร้างของเศรษฐกิจประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคต”นายสนั่น กล่าว
ขณะเดียวกันยังต้องติดตามผลกระทบจากอุทกภัยและแนวโน้มพายุลูกใหม่ที่อาจเข้าไทยอีกในช่วงไตรมาส 4/2567 ซึ่งคาดว่าน้ำท่วมรอบนี้จะทำให้เกิดความเสียหายราว 3-5 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 0.2% ของจีดีพี โดยภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด จากสถานการณ์น้ำท่วมที่อาจขยายวงกว้างมากขึ้น และต้องรอติดตามส่วนของการเยียวยาและมาตรการที่เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องในการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา
ขณะที่การทำงานแบบบูรณาการทั้งพัฒนาระบบแจ้งเตือนระดับน้ำและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมให้ประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่ทราบแบบ Real time ผ่านโทรศัพท์มือถือ และมีความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในการเร่งแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อทำการเกษตรทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพื้นที่ต้นน้ำป้องกันปัญหาน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงแรงสนับสนุนจากภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจและการเร่งเบิกจ่ายงบลงทุน กกร.จึงยังประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2567 จะยังสามารถขยายตัวได้ในกรอบ 2.2-2.7%
นอกจากนี้ ที่ประชุม กกร. ได้มีการพิจารณาข้อเสนอต่อแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าของประเทศ (PDP2024) เพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างเสถียรภาพด้านพลังงาน โดยมี 6 ข้อเสนอ ดังนี้ 1.การปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของประเทศ(LT-LEDS) เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศไทย
2. การเพิ่มสัดส่วนของไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมร่วมกับแบตเตอรี่ (BESS) โดยในช่วงเปลี่ยนผ่านควรลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานด้วยการเร่งพัฒนาแหล่งพลังงานจาก OCA ไทย-กัมพูชา 3. ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณาจัดหาพลังงานทางเลือกใหม่ในสัดส่วนที่เหมาะสม อาทิ ไฮโดรเจน นิวเคลียร์ (SMR) การใช้พลังงานหมุนเวียนร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน เป็นต้น
4. เร่งให้ความสำคัญการเปิดเสรีไฟฟ้า ในระยะเร่งด่วนควรเร่งการเปิดใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (Third Party Access, TPA) ภายในปี พ.ศ. 2569 5. การพิจารณาความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ และความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่โดยเทียบกับทางเลือกในการ Repowering หรือ Overhaul โรงไฟฟ้าเดิม และ 6. เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐ และเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาพลังงาน (กรอ.พลังงาน) ซึ่งให้ภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วมให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการเสนอแนะนโยบาย แผนการบริหารและพัฒนามาตรการด้านพลังงานของประเทศ ต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
ข่าว
22 พ.ย. 2567 13:50 45 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 12:09 58 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 11:53 47 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 11:36 48 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 10:57 48 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 10:20 81 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 09:52 89 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 09:31 85 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 09:25 83 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 09:22 83 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 09:20 96 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 09:12 125 views
ข่าว
22 พ.ย. 2567 09:07 135 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 18:01 256 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 17:59 171 views
ข่าว
21 พ.ย. 2567 16:08 167 views