×
Live หน้าหลัก ทันเหตุการณ์ ทั่วไป คุณภาพชีวิต อาชญากรรม เศรษฐกิจ ต่างประเทศ กีฬา วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม ทหาร การเมือง ภูมิภาค บทความ บันเทิง Olympic Games Paris 2024บทความ ไลฟ์สไตล์ สุขภาพ การเงิน โชคชะตาและความเชื่อ สัมภาษณ์&บทความ กิจกรรม ททบ. กิจกรรม ทบ. แนะนำรายการ หน่วยงานและเอกชน พอดแคสด์ ศูนย์ข่าววิทยุ ติดต่อเรา

วันที่ 8 กันยายน 2567

?>

ว่าด้วย “รัฏฐาธิปัตย์” …อีกแล้ว

 21 ก.ย. 2566 15:00 | 21777 view

 @varin

Facebook X Share

การกลับมาอีกครั้งของคำว่า “รัฏฐาธิปัตย์”

เปิดประเดิมการแถลงข่าว ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในฐานะโฆษกรัฐบาลป้ายแดงของ คุณหมอชัย วัชรงค์ ด้วยหลากหลายประเด็นร้อน จนหลายฝ่ายต้องออกมาตามแก้ข่าวกันวุ่นวาย รับน้องทั้ง คุณเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรีป้ายแดง ที่คล้ายว่าจะยังปรับตัวไม่ได้ดีนัก จากโหมดของซีอีโอของบริษัทเอกชน มาสู่โหมดของนายกรัฐมนตรีของประเทศ และตัวคุณหมอที่ก็มาทำหน้าที่แถลงมติของ ครม. รวมถึงข้อสั่งการต่างๆ ของนายกรัฐมนตรี กันไปพอหอมปากหอมคอ
 

 

หนึ่งในประเด็นโบ๊ะบ๊ะที่ถูกกล่าวถึงกันมากที่สุดในวันนั้น คือ ข้อสั่งการของคุณเศรษฐา ให้หน่วยงานต่างๆ ไปรื้อคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และเดินหน้าสู่การทบทวนและยกเลิกคำสั่งเหล่านั้น ว่า หากหน่วยงานใดเห็นว่าคำสั่งใดยังมีความจำเป็นต้องคงไว้ ก็ให้เสนอเข้ามายังที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาภายในวันที่ 9 ตุลาคม ไม่เช่นนั้นจะให้ถือว่ายกเลิก
 

พูดอย่างเป็นธรรมกับคุณหมอชัย ต้องยอมรับว่าคุณหมอสามารถสื่อสารเจตนาของนายกรัฐมนตรี ในการที่จะเคลียร์คำสั่งต่างๆ อันเป็นมรดกตกทอดของคณะรัฐประหาร ที่ยังคงค้างและมีผลอยู่ในปัจจุบันออกไปให้หมด แต่ประเด็นที่กลายมาเป็นที่สนใจมากกว่า และต้องยอมรับว่าคุณหมอตอบได้ไม่ดีเอาเสียเลย คือวิธีการที่รัฐบาลจะต้องใช้ในการดำเนินการเพื่อยกเลิกคำสั่งต่างๆ เหล่านั้น
 

“มติคณะรัฐมนตรีก็ยกเลิกได้ ตอนนี้รัฐบาลนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ ยกเลิกได้อยู่แล้วครับ”
    ถ้าวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเห็นใจ คุณหมอก็เพิ่งเข้ามารับหน้าที่และแถลงข่าว ย่อมมีความประหม่าและตื่นเต้นอยู่บ้างไม่มากก็น้อย บวกกับภูมิหลังของคุณหมอ ที่สำเร็จการศึกษาด้านสัตวแพทย์ศาสตร์ เข้าใจว่าเชี่ยวชาญเป็นพิเศษเกี่ยวกับไก่ชน และมีประสบการณ์ด้านธุรกิจและนโยบายการเกษตร ไม่มีวุฒิการศึกษาด้านรัฐศาสตร์หรือนิติศาสตร์ ฉะนั้น ความเข้าใจและการเลือกใช้คำในทางการเมืองและกฎหมายก็จึงอาจไม่รัดกุมนัก จนอาจสื่อความคลาดเคลื่อนไปจากที่ตั้งใจไปบ้าง แม้ว่ากรณีนี้ คงต้องถือคลาดเคลื่อนไปพอสมควรเลยทีเดียวก็ตาม
 

 

 

คำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” เป็นเหตุ สังเกตได้

 

จริงดังที่ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ว่า "คำพูดหากยังไม่พูดออกไป เราเป็นนายมัน แต่ถ้าพูดออกไปแล้ว มันก็เป็นนายเรา" เพราะทันทีที่คุณหมอพลั้งปากออกไป ก็ไม่แตกต่างจากเวลาและสายน้ำ ที่ไม่สามารถเอามันกลับคืนมาได้ ทั้งสำนักข่าวต่างๆ นักวิเคราะห์ รวมถึงนักการเมืองฝั่งตรงข้าม ก็พารถทัวร์มาจอดที่ทำเนียบรัฐบาลกันแน่นขนัด

ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ว่า “หากเป็นการพูดตามความเข้าใจ ว่านี่คือกฎหมายที่ควรจะเป็น ก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูก เนื่องจากประกาศคณะปฏิวัติส่วนใหญ่ มีฐานะเทียบเท่ากับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ดังนั้นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงยกเลิกเพิกถอน ต้องทำโดยกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ไม่สามารถทำโดยคำสั่งของบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ เว้นเสียแต่บุคคลนั้นเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ เช่น หัวหน้าคณะรัฐประหาร… ข้อสั่งการของนายกฯ ที่จะมีผลเทียบเท่ากับมติ ครม. ก็ต่อเมื่อต้องเป็นกรณีที่ ครม. มีมติมอบหมายให้นายกฯ ไปสั่งการดำเนินการเรื่องใดบ้าง ก็จะถือว่าข้อสั่งการเหล่านั้นเป็นไปตามมติ ครม.”
 

คุณราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ คืออีกหนึ่งในผู้ที่ออกมาให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ว่า “การอ้างว่ารัฐบาลเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เหมือนเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่ารัฐบาลนี้เริ่มต้นแล้วในการเดินเข้าสู่เส้นทางการใช้อำนาจตามอำเภอใจ”
หนักมือสุดเห็นจะได้แก่ คุณจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคณะหลอมรวมประชาชน ที่ออกมาให้สัมภาษณ์ด้วยว่า “ผมแปลกใจที่มาแถลงในนามโฆษกรัฐบาลครั้งแรก ก็พูดถึงรัฐบาลนี้เป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะเลิกคำสั่ง คสช. ที่ไม่ใช้ก็ตาม แต่นั่นไม่ได้หมายถึงความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เป็นเพียงมติ ครม. อีกอย่างถ้าถึงขั้นประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ เท่ากับว่าประเทศขณะนี้ได้บริหารโดยหัวหน้าคณะรัฐประหารชุดใหม่แล้ว นี่หนักเลย”
 

จน คุณสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ต้องออกมาดับไฟ ว่าคุณหมอ “ไม่ได้เป็นนักกฎหมาย แต่เป็นนายสัตวแพทย์ จึงต้องขอเวลาให้ท่านปรับตัว เชื่อว่าประชาชนจะเข้าใจ อย่างไรก็ตามหน้าที่ของโฆษกรัฐบาล ไม่ต้องลงรายละเอียดลึก แต่หากผู้สื่อข่าวไปถามแบบลึกๆ ท่านก็จะตอบลึก ก็จะยุ่งอยู่เหมือนกัน ดังนั้นขอให้เรียนรู้กันไป 1-2 สัปดาห์น่าจะเข้าที่เข้าทาง”
 


โบ๊ะบ๊ะในสังคมไทย เกี่ยวกับคำว่า “รัฏฐาธิปัตย์”
 

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปทบทวนเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมา ก็จะพบว่า เอาเข้าจริงแล้ว ความโบ๊ะบ๊ะในสังคมไทย เกี่ยวเนื่องกับคำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” นั้นมีมาโดยตลอด 
ข้อถกเถียงคลาสสิกที่สุดเกี่ยวกับคำว่า “รัฏฐาธิปัตย์” ของประเทศไทย คือ “คณะรัฐประหาร” เป็นรัฏฐาธิปัตย์หรือไม่ ? เพราะถ้าคณะรัฐประหารถือเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คำสั่งของคณะรัฐประหารก็จะมีสภาพเป็นกฎหมาย ตามแนวคิดของนักกฎหมายสํานักกฎหมายบ้านเมือง (Legal Positivism) ที่ตีความกฎหมายโดยยึดลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญ และนำโดยนักกฎหมายชาวอังกฤษ ชื่อ จอห์น ออสติน (John Austin, 3 มีนาคม 1790 - 1 ธันวาคม 1859) ที่กล่าวไว้ว่า “กฎหมาย คือ คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์” 
 

จะด้วยเหตุใดก็ตาม ดูเหมือนแนวของศาลและนักกฎหมายไทยส่วนใหญ่ จะโน้มเอียงมาทางนี้ โดยยึดกันตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1662/2505 ที่ตัดสินไว้ว่า 
“คณะปฏิวัติได้ยึดอำนาจปกครองประเทศได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชนก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชน จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้”
 

แม้จะเคยมีความพยายามในการปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว แต่ก็ยังเป็นเสียงข้างน้อย เช่น คำวินิจฉัยส่วนตัวของ คุณกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในคำพิพากษาที่ อม.9/2552 ว่า
“คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (คปค.) เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์ไม่”
 

เหตุการณ์ร่วมสมัย ที่หลายคนน่าจะยังพอจำกันได้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2557 คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ก็เคยประกาศบนเวทีปราศัย ว่า "มาคราวนี้จะมายึดอำนาจประเทศไทยเลย อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย เพราะรัฐบาลได้ประกาศระเบิดตัวเองทิ้งไปตั้งแต่การประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 56 แล้ว ดังนั้น เรามีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะประกาศความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของประชาชน"
 

ก็คล้ายๆ กับรอบนี้แหละครับ ในเวลานั้น คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาโพสต์ว่านี่ “เป็นการยึดอำนาจรัฐมาที่ตัวเอง (คุณสุเทพ) ทำตัวเป็นศูนย์กลางของอำนาจรัฐ” คุณชวลิต วิชยสุทธิ์ ก็ออกมาบอกว่า “เป็นการละเมิดพระราชอำนาจ” รวมถึง คุณธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ก็ออกมาชี้ว่า “การประกาศรัฏฐาธิปัตย์ของนายสุเทพ เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 113 ชัดเจน เนื่องจากเป็นการตระเตรียมกำลังเพื่อเป็นกบฏ”
    เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2561 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง เเละการเดินขบวนในกิจกรรม “We Walk เดินมิตรภาพ” ว่า “สามารถทำได้ภายใต้กรอบของกฎหมายทุกอย่างและคำสั่งของ คสช. ก็ตอนนี้เราเป็นรัฏฐาธิปัตย์ จะเอาอะไร” โดยในคราวนั้น คุณอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ออกมาโต้แย้งและโจมตีว่า “อะไรทำให้ท่านคิดว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ผมคิดว่าความเข้าใจผิดนี้ อาจเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ คสช. ดูจะใช้อำนาจเกินขอบเขต โดยเฉพาะการใช้มาตรา 44 เพื่อดำเนินการเรื่องต่างๆ”
 

 

ไม่ใช่แค่ “ความหมาย” หรือ “ประสิทธิผล” แต่เป็น “ความชอบธรรม”
 

 

ท้ายที่สุดนี้ ด้วยเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทย ในฐานะประเทศที่มีสถิติการรัฐประหารมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้เรามีโอกาสได้พูดคุยกันเรื่อง “รัฏฐาธิปัตย์” อยู่บ่อยครั้ง ประมาณว่าสัก 4-5 ปี  จะมีการพูดถึงมันในพื้นที่สาธารณะ และนำมาอธิบายซ้ำๆ กันครั้งหนึ่ง
    การรู้คำแปลอย่างกระชับ ว่า “รัฏฐาธิปัตย์” เป็น “อำนาจสูงสุดเบ็ดเสร็จเด็ดขาด” ตาม สารานุกรมบริแทนนิกา (Encyclopædia Britannica) ที่ระบุไว้ว่าคือ “หนึ่งในแนวคิดที่มีการถกเถียงกันมากที่สุดในสาขาวิชารัฐศาสตร์และกฎหมายระหว่างประเทศ” นั้นอาจให้ประโยชน์แก่ทุกท่านแค่เพียงเล็กน้อย ไม่ได้ก่อให้เกิดความเข้าใจถึงสาระสำคัญ อย่างยิ่งคือการคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ ตลอดจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสังคมในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม
 

การตั้งคำถามของผู้คน เช่น ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ที่เกินออกไปจาก “ประสิทธิผล” (Effective) ว่าใครสามารถยึดเอาอำนาจไปในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง สู่ “ความชอบธรรม” (Legitimate) ในการได้ไปซึ่งอำนาจดังกล่าว หรือการกล่าวอย่างตรงไปตรงมายิ่งขึ้น แบบ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ว่า “ถ้ารัฏฐาธิปัตย์อยู่ในมือของผู้ที่ยึดเอารัฐไปแล้วด้วยวิถีทางใดๆ ก็ได้ จะมีความแตกต่างระหว่างรัฐและซ่องโจรตรงไหน” แม้ว่าที่ผ่านมา ในท้ายที่สุด มันจะจำต้องจบลงด้วยการถูกสภาพบังคับของกฎหมาย บีบให้ต้องปฏิบัติตามอย่างไม่มีทางเลือกอื่น ทุกครั้งก็ตาม
 

แต่ด้วยเงื่อนไขสำคัญต่างๆ ที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้อย่างมั่นใจอีกแล้วในปัจจุบัน ว่าประวัติศาสตร์ที่คนรุ่นเราคุ้นชิน จะวนกลับมาซ้ำรอย และนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เหมือนเดิมอีกหรือไม่ การคิดและคุยเรื่องนี้กันในแง่มุมหลังอย่างกว้างขวาง อาจกลายไปเป็นส่วนหนึ่งที่บีบให้สังคมการเมืองของไทยต้องปรับตัว อย่างที่มันได้ปรับตัวมาอย่างมากจนน่าตกใจแล้ว อย่างน้อยก็ตามสายตาของผมและผู้คนอีกไม่น้อย แค่ในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้
 

 

ศาสตราจารย์ ดร.กิตติศักดิ์ เจิมสิทธิประเสริฐ
ผู้อำนวยการ สมาคมนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์
อีเมล [email protected]

 

เป็นเพื่อนกับบัญชีทางการ LINE ของเราเพื่อรับข่าวสารล่าสุดและอีกมากมาย!

เพิ่มเพื่อน

ทันเหตุการณ์

ข่าว

‘ยางิ’อ่อนกำลัง อุตุฯเตือนฉบับ19 ‘ยางิ’อ่อนกำลังเป็นดีเปรสชัน ‘เหนือ-อีสาน’ยังต้องรับมือฝนตกหนัก

8 ก.ย. 2567 09:23 45 views

ข่าว

เตือน 11 จว.ลุ่มเจ้าพระยา  เฝ้าระวัง

7 ก.ย. 2567 17:29 209 views

ข่าว

ครม. เห็นชอบแต่งตั้ง "นพ.พรหมินทร์" เป็นเลขาธิการนายกฯ คนใหม่

7 ก.ย. 2567 16:41 157 views

ข่าว

แม่น้ำยมยังสูงขึ้นต่อเนื่อง เตรียมรับมือพายุไต้ฝุ่น "ยางิ"

7 ก.ย. 2567 15:28 161 views

ข่าว

“นายกฯอิ๊งค์” ลั่นทำงานเต็มที่แข่งกับเวลาทุกนาที

7 ก.ย. 2567 14:37 191 views

ข่าว

นายกฯอิ๊งค์ตอบคำถามสื่อนอก ลั่นพร้อมทำดีที่สุด

7 ก.ย. 2567 14:28 168 views

ข่าว

“วราวุธ” ขอบคุณทัพนักกีฬาพาราลิมปิกไทย

7 ก.ย. 2567 14:26 255 views

ข่าว

”นายกฯ แพทองธาร“ ประเดิม ครม.นัดพิเศษ สั่ง3 ข้อ 

7 ก.ย. 2567 13:01 271 views

ข่าว

นายกฯแพทองธาร นำคณะรัฐมนตรีถ่ายภาพรวมหมู่หน้าตึกไทยคู่ฟ้า

7 ก.ย. 2567 11:12 205 views

ข่าว

'นฤมล' ควง 2 รมช. ขึ้นประชุมครม.นัดพิเศษ อุบตอบการทำงาน รอแถลงก่อน

7 ก.ย. 2567 10:50 175 views

ข่าว

 "ต.99" จากท้องทะเลสู่บก: สดุดี "เรือหลวงของพ่อ" 

7 ก.ย. 2567 10:10 242 views

ข่าว

โลกเดือด! ฤดูร้อนที่ผ่านมา ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์  

7 ก.ย. 2567 09:54 174 views

ข่าว

กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศ เตือนอิทธิพลทางอ้อม ของพายุยางิ ส่งผลทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเกิดฝนตกหนักถึงหนักมาก

7 ก.ย. 2567 08:50 245 views

ข่าว

แม่ค้าออนไลน์ตุ๋นขาย "ลาบูบู้"  

6 ก.ย. 2567 16:23 193 views

ข่าว

"นายกฯอิ๊งค์"สวมชุดชาว เข้าทำเนียบฯ เตรียมนำครม.เข้าเฝ้าถวายสัตย์ฯ รับตื่นเต้น

6 ก.ย. 2567 16:04 481 views

ข่าว

‘วันนอร์’เผยแถลงนโยบาย‘รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์’ 12-13 ก.ย.นี้ ยันไม่มีอะไรต้องระวัง

6 ก.ย. 2567 15:59 176 views